“เสริมศักดิ์” ปลื้ม สภาฯ เตรียมพิจารณารับร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ 5 ฉบับ วาระแรก 28 ก.พ.นี้ ชี้เป็นจุดเริ่มต้นสร้างความเท่าเทียมในการใช้ชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ บนสังคมที่แตกต่าง

0
70

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอร่วมกับร่างพระราชบัญญัติชาติพันธุ์ของ ส.ส. และภาคประชาชน รวม 5 ฉบับ เป็นวาระด่วน เพื่อรับหลักการวาระแรกในวันพรุ่งนี้  28 ก.พ.67

ภายหลังมีความพยายามมากว่า 10 ปี ที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมกันผลักดันให้มีการยกฐานะแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิ.ย. 53 และแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค.53 ให้มาเป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยอย่างเสมอภาค

นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า พรุ่งนี้ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะได้ร่วมกันติดตามการพิจารณาร่าง กฎหมายดังกล่าว ซึ่งตนได้เร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นของขวัญให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทย เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานทางความคิดให้คนไทยเห็นคุณค่าของความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ มีทักษะชีวิตที่จะดำรงอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่าง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยหลุดพ้นจากการเป็นสังคมเปราะบาง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงจากความแตกต่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ที่ฉุดรั้งการพัฒนาและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสริมศักดิ์ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…ให้ ครม.พิจารณา และมีมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา และขณะนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรได้รับร่างกฎหมายดังกล่าว และร่างพระราชบัญญัติที่มีลักษณะเดียวกันอีก 4 ฉบับ เพื่อพิจารณา จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยและเป็นความหวังของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะมีกฎหมายฉบับแรกที่วางหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์  สร้างการยอมรับให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และสร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

*****************************************************************