ปี 67 วธ.ชวนแต่งไทย-ใส่เสื้อลายดอกเล่นน้ำสงกรานต์ กำชับสวจ.ร่วมสืบสานงานประเพณีสงกรานต์เน้นกิจกรรมอนุรักษ์สืบสานคุณค่าสาระอันดีงาม

0
1677

รณรงค์ใช้น้ำสะอาด งดใช้แป้ง สีและอุปกรณ์ฉีดน้ำแรงดันสูง ตั้งศูนย์เฝ้าระวังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ร่วมเฉลิมฉลอง “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่กระทรวงวัฒนธรรมและผ่านระบบออนไลน์ โดยได้เน้นย้ำให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ทุกแห่งจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ ปี 2567 ในเชิงการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างการมีส่วนร่วมในการสืบสานประเพณีสงกรานต์และสร้างการรับรู้ในโอกาสที่ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และขับเคลื่อน Soft Power ด้านท่องเที่ยวและเทศกาลประเพณี (เฟสติวัล) ตามนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้สู่ประชาชนและชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งรัฐบาลจัดงาน MahaSongkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2567 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลางและสนามหลวง กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ จัดงานประเพณีสงกรานต์ในช่วงเดือนเมษายน 2567

โดยงาน MahaSongkran World Water Festival 2024 มีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด(สวจ.) 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช เชียงราย หนองคาย พิษณุโลก สงขลา บุรีรัมย์พระนครศรีอยุธยา นครพนม ลำปาง เลย สุโขทัย และภูเก็ต เข้าร่วมจัดขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม นำเสนออัตลักษณ์งานประเพณีสงกรานต์ของแต่ละจังหวัด จึงกำชับให้สวจ.ทั้ง 16 จังหวัดเตรียมความพร้อมและร่วมสนับสนุนงานอย่างเต็มที่

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดงานประเพณีสงกรานต์ทั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งวธ.สนับสนุนการจัดกิจกรรมสงกรานต์ไทยทั้ง 50 เขต และเพิ่มอีก 2 พื้นที่ ได้แก่ สีลม และสยามสแควร์ โดยจัดกิจกรรมหลักที่วัดสุทัศนเทพวราราม นำเสนอกิจกรรมที่อนุรักษ์และสืบสานประเพณี ได้แก่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว ก่อเจดีย์ทราย เป็นต้น และส่วนภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรีและภูเก็ต มุ่งเน้นกิจกรรมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมสื่อถึงอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค อาทิ ขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ สักการะและสรงน้ำพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ทำบุญสรงน้ำพระ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้านวิถีถิ่น ตลาดวัฒนธรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้กำชับให้สวจ.จังหวัดต่างๆ ที่มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ให้เน้นกิจกรรมการสืบสาน อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและเผยแพร่คุณค่า สาระที่งดงามของสงกรานต์ไทยที่แสดงออกถึงความรัก  ความกตัญญูรู้คุณ ความอ่อนโยน และความสนุกสนานรื่นเริง รวมทั้งขอความร่วมมือให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศที่จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ รณรงค์คนไทยแต่งกายผ้าไทย ใส่เสื้อลายดอก ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของการแต่งกายในช่วงเทศกาล และเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมรณรงค์เรื่องความปลอดภัย การใช้น้ำสะอาด งดใช้แป้ง สี อุปกรณ์ฉีดน้ำแรงดันสูง ไม่ถือโอกาสนี้กระทำการลวนลามทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จนทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย

นางยุพา กล่าวด้วยว่า ได้ให้กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ขึ้นที่วธ.ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2567 และให้กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สวจ.แต่ละจังหวัด ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงติดตาม จับตา ตรวจสอบ และรับแจ้งเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย หากมีการกระทำความผิดจะเร่งรัดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที รวมทั้งให้สวจ.ทุกจังหวัดรายงานข้อมูลแต่ละวันมายังศูนย์เฝ้าระวังฯด้วย

*****************************************************************