หน่วยงานศาสนาลาว-ไทย หารือแก้ปัญหาวัดร้าง ประสานความร่วมมือส่งพระ-ฆราวาสมาเรียนในม.สงฆ์ไทย

0
1702

เมื่อวันที่ 22 มกราคม พระมหาเวท เมศนัย รองประธานศูนย์กลางองค์การพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว พร้อมด้วยท่านคะนองสิต สีสมบูน อธิบดีกรมการศาสนา แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมคณะเข้าสักการะพระพรหมมุนี เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม รวมทั้งศึกษาดูงานที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.) อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในโอกาสมาเยือนประเทศไทยตามโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำศาสนา ระหว่างวันที่ 21-26 ม.ค. โดยท่านคะนองสิต กล่าวว่า การได้มาเยือนประเทศไทยครั้งนี้  ตั้งใจมาศึกษาดูงานด้านพระพุทธศาสนาในประเทศไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศาสนา และพศ. ซึ่งปัจจุบันประเทศลาวมีวัดจำนวน 4,884 วัดแบ่งเป็นวัดที่พระภิกษุจำพรรษา 4,134 วัด และวัดร้าง 750 วัด มีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร  จำนวน 35,000 รูป  ซึ่งปัญหาปัจจุบันที่ทางกรมพบ คือ ปัญหาวัดร้าง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ดังนั้น จึงหารือกับทางพศ.ว่ามีแนวทางอย่างไรในการแก้ปัญหาวัดร้าง เพื่อที่ทางกรมจะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ท่านคะนองสิต กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้ฝากถึงมมร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาคณะสงฆ์ โดยเล็งเห็นว่า การศึกษาสงฆ์ของลาว ยังต้องมีการพัฒนาให้เกิดความแข็งแรง  โดยการสอนบาลีครูสอนไม่เพียงพอ  จึงจำเป็นต้องส่งพระสงฆ์มาศึกษาในไทย เนื่องจากวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยและลาว มีวัตรปฏิบัติคล้ายคลึงกัน  เพื่อพัฒนาความรู้ให้สืบต่อพระพุทธศาสนาในลาวเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งทางลาวขอขอบใจทางมมร. ที่ให้โอกาสคณะสงฆ์ลาวได้ส่งพระสงฆ์มาเรียน  รวมทั้งจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทางมมร.ไปบรรยายวิชาการด้านศาสนาในประเทศลาว รวมทั้งจะหาแนวทางการส่งเสริมให้ฆราวาสได้มาเรียนวิชาการทางพระพุทธศาสนาที่มมร.ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีฆราวาสได้มาเรียนในวิชาการทางพระพุทธศาสนา

นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้ตรวจราชการพศ. กล่าวว่า ทางพศ.พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกรมการศาสนาของประเทศลาว โดยเฉพาะเรื่องของแนวทางแก้ปัญหาวัดร้าง ซึ่งในส่วนของพศ. ได้มีระบบรองรับแก้ปัญหาวัดร้างไว้ 2 แนวทาง คือ 1.การยกวัดร้างที่ไม่มีพระจำพรรษาให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัดที่ร้างเกิดมาแต่อดีตตามประวัติศาสตร์ 2.วัดร้างที่ไม่มีศาสนสถาน เหลือเพียงพื้นที่ที่มีโฉนดกรรมสิทธิ์ ก็จะดำเนินการจัดประโยชน์ โดยให้ประชาชนเช่าในราคาถูก หรือให้เช่าประกอบธุรกิจ เพื่อนำรายได้เก็บเข้ากองทุนศาสนสมบัติกลาง ในการนำมาพัฒนาพระพุทธศาสนา รวมทั้งการสร้างวัดในประเทศไทย ก็จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนโดยจะต้องมีประชากรไม่ต่ำกว่า 1,000 คน และวัดต้องมีระยะห่างกัน 2 กิโลเมตร และใช้วิธีการวัดใหญ่ช่วยวัดเล็ก สิ่งสำคัญ คือ การสร้างศรัทธาให้ชาวพุทธเกิดขึ้นแก่วัด เชื่อว่า จะทำให้เกิดวัดร้างน้อยลง