รองประธานสงฆ์และอธิบดีกรมการศาสนา สปป.ลาว เข้าเยี่ยม มจร. หวังความร่วมมือด้านหลักสูตรพระธรรมทูต – ด้านการศึกษาสงฆ์

0
1539

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 เวลา 09.40 น. ที่ห้อง 401 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. อธิการบดี มจร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) มอบหมายให้ พระราชวรเมธี ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร. พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร. พร้อมคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับรองประธานสงฆ์และอธิบดีกรมการศาสนา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และคณะ ในโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมกิจการและการจัดงานจัดการศึกษาของมจร. เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีด้านพระพุทธศาสนาระหว่างไทยกับสปป.ลาว และส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการของคณะสงฆ์

พระโสภณวชิราภรณ์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนา ระหว่างไทย-สปป.ลาวนั้น ว่ามีมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์สปป.ลาว และประชาชนชาวพุทธของทั้งสองฝั่งโขง ซึ่งมีเพียงแม่น้ำโขงเท่านั้นที่กั้นกลาง ที่สำคัญ พระสงฆ์สปป.ลาว ได้เข้ามาศึกษาที่ มจร. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก โดยได้รับความอนุเคราะห์จากมจร.และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ของไทย  ที่ให้การสนับสนุนด้านทุนการศึกษาในบางส่วน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็กลับมาช่วยเหลือคณะสงฆ์หรือบางท่านก็อาจทำงานในหน่วยงานราชการของสปป.ลาว และได้ถือโอกาสรายงานถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะสงฆ์ลาวกับมจร.ที่มีต่อกันให้ที่ประชุมทราบโดยลำดับ

จากนั้น ดร.พระมหาเวท มะเสไน รองประธานองค์การศาสนาสัมพันธ์ลาว (อพส.) ได้กล่าวอนุโมทนาชื่นชมถึงความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาของทั้งสองประเทศว่า มีความเกี่ยวพันธ์กันมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความใกล้ชิดกันอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภาษาที่คล้ายคลึงกันจนแทบจะแยกไม่ออก พระสงฆ์ลาวได้มาศึกษาทั้งที่ มจร. และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลและคณะสงฆ์ลาวกำลังส่งเสริมให้คณะสงฆ์ สปป.ลาวจัดให้มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมเพื่อสร้างเข้มแข็งให้กับพระพุทธศาสนา และสร้างศาสนทายาท แต่ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ จำต้องได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากคณะสงฆ์ไทย โดยเฉพาะจากมจร.ในการให้คำปรึกษา แนะนำและให้การช่วยเหลือ

พระราชวรเมธี ในฐานะผู้แทนองค์อธิการบดี ได้กล่าวต้อนรับและยินดีอย่างมากที่รองประธานสงฆ์ และอธิบดีกรมการศาสนา สปป.ลาว และคณะได้ให้เกียรติมาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย  สปป. ลาว กับไทย ถือว่าเป็นพี่น้องกัน ส่วนใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง ก็ขึ้นอยู่กับอายุ ทั้งสองประเทศมีความเหมือนกันทั้งรูปร่างหน้าตาและภาษา ส่วนตัวภูมิลำเนาที่เป็นถิ่นเคยอยู่อาศัยแถวอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ก็มีพี่น้องไทยเชื้อสายลาวที่อพยพกันมาเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่อดีต จึงกล่าวได้ว่าเป็นพี่น้องกัน วันนี้ได้มีโอกาสต้อนรับจึงดีใจและหวังว่าจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนท่านบ้างในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาของมจร. และงานคณะสงฆ์ที่มหาวิทยาลัยมีส่วนในการดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำแผนการปฏิรูปงานในกิจการคณะสงฆ์ และหลักสูตรที่เกี่ยวกับการสนองงานคณะสงฆ์ เช่น หลักสูตรประกาศนียบัตรสาขาวิชาการบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.) หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ ประกาศนียบัตรสาขาวิชาการเทศนาที่ท่านรองประธานสนใจ

“ที่ผ่านมาคณะสงฆ์ของไทย ไม่มีการจัดทำแผนแม่บท เพื่อรองรับการดำเนินงานเกี่ยวกับงานด้านกิจการคณะสงฆ์ แตกต่างจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่มีสถานะตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 เป็นนิติบุคคล มีการกำหนดโครงสร้างขององค์กรที่ชัดเจนทั้งอำนาจหน้าที่ บุคลากร และงบประมาณ ทำให้มีการดำเนินการจัดทำแผนระยะสั้นเป็นแผนปฏิบัติการประจำปี แผนระยะยาว เช่น แผนพัฒนามหาวิทยาลัย ฉบับที่ 1-12 เป็นต้น ซึ่งต่างจากคณะสงฆ์ไทยที่ผ่านมายังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นระบบจึงไม่มีแผนงานในการเชื่อมโยงโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ที่คณะสงฆ์ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่หรือพันธกิจ 6 ด้านของคณะสงฆ์ทั้งปกครอง เผยแผ่ ศาสนศึกษา ศึกษาสงเคราะห์ สาธารณะสงเคราะห์ และสาธารณูปการ ซึ่งในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยองค์อธิการบดีได้ช่วยวางแนวทางในการดำเนินการจัดทำแผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาเพื่อช่วยสนองงานคณะสงฆ์ การนี้มหาเถรสมาคมได้เห็นชอบและได้มีการนำแผนดังกล่าวไปทำความเข้าใจกับเจ้าคณะพระสังฆาธิการและขับเคลื่อนทั่วประเทศ” พระราชวรเมธี กล่าว

รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวด้วยว่า ในขณะเดียวกันงานเกี่ยวกับพระธรรมทูตสายต่างประเทศที่รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศกำกับดูแลและดำเนินการ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต ได้จัดให้มีอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศตามหลักสูตรที่กำหนด และได้มีการดำเนินงานมาโดยลำดับ การส่งพระที่ผ่านการอบรมไปเป็นพระธรรมทูตทั่วโลกซึ่งมีทั้งพระไทยและพระต่างประเทศให้ความสนใจเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมาก มจร. อาจให้การสนับสนุนหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรดังกล่าวนี้ได้ นอกจากนี้ในส่วนของพระธรรมทูตในต่างประเทศก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์ไทยว่ามีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมทูตในสายต่างประเทศบ้าง ในโอกาสอันใกล้นี้ก็จะได้มีการไปเสนอข้อคิดความเห็นในต่างประเทศ รวมถึงแนวทางในการดำเนินการร่วมมือกับคณะสงฆ์ในประชาคมในระดับอาเซียนด้วย

ด้านท่านคะนองลิต สีสมบูน อธิบดีกรมการศาสนา สปป.ลาว ได้กล่าวนมัสการขอบคุณที่คณะผู้บริหารมจร. ที่ได้เมตตาให้การต้อนรับคณะจากสปป.ลาวอย่างอบอุ่น และกล่าวถึงประเด็นความร่วมมือ ดังนี้  (1) เรื่องหลักสูตรพระธรรมทูตสายต่างประเทศ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ไม่มีหลักสูตรที่เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องการอบรมและให้ความรู้กับพระสงฆ์ที่ประสงค์จะเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นความประสงค์ของพุทธศาสนิกชนลาว ที่มีความศรัทธาเป็นการส่วนตัวนิมนต์ไป จึงอยากได้รับความช่วยเหลือเกี่ยวกับกระบวนการในการอบรมและหลักสูตรพระธรรมทูตสายต่างประเทศไว้ใช้สำหรับ สปป.ลาว อาจจะขอคำปรึกษาและหารือในโอกาสต่อไปเพื่อสร้างเข้มแข็งด้านการเผยแผ่ ในส่วนของโรงเรียนพระปริยัติธรรมตามที่ดร.พระมหาเวท มะเสไน ได้กล่าวแล้วว่ายังต้องจัดให้มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมอีกมาก ปัญหายังขาดทั้งโรงเรียนและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าวนี้ จำต้องได้รับความร่วมมือหรือสนับสนุนจากคณะสงฆ์ไทย

(2) เรื่องการบริหารกิจการคณะสงฆ์นั้น ได้รับฟังพระราชวรเมธี ที่ได้เมตตากล่าวถึงการให้ความรู้กับพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการ และกำหนดเป็นหลักสูตร ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ เป็นแนวทางที่สนใจมาก ใน สปป.ลาวเองไม่เฉพาะพระสงฆ์เท่านั้นที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้แม้แต่พุทธศาสนกิจชนในวัดก็จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวนี้ ตัวอย่างของการที่ี่คณะสงฆ์ไทยได้มีการดำเนินการจัดทำแผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ลาว เพราะการดำเนินการของคณะสงฆ์ลาวจำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนหรือยุทธศาสตร์การบริหารงานของประเทศด้วย

(3) ความร่วมมือทางด้านวิชาการ ต้องขอบคุณที่มจร.เปิดโอกาสให้คณะสงฆ์ลาวได้มาศึกษาต่อในประเทศไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีประเด็นเพิ่มเติมว่า คณะสงฆ์หรือประชาชนลาวที่ได้สำเร็จการศึกษาจากประเทศไทยแล้วกลับไปช่วยงานคณะสงฆ์ บางท่านได้ช่วยงานในส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการทางศาสนา หรืองานอื่น ๆ และมีความจำเป็นจะต้องได้รับการเพิ่มพูนในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงอาจต้องขอความร่วมมือและการสนับสนุนจากมจร.ในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย

ขณะที่ นางจันเทา ปัทมวงศ์ ได้กล่าวอนุโมทนาและดีใจที่มีโอกาสได้มาเยี่ยมชมการจัดการศึกษาทางด้านพระพุทธศาสนาของมจร. ในโอกาสต่อไปคงได้เห็นความร่วมมือและสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนาทั้งในเรื่องหลักสูตรพระธรรมทูต โรงเรียนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ลาวจากมจร.

พระมหาดนัยพัชร์ คมฺภีรปญฺโญ รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนของคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งกำกับดูแลการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา กล่าวเสริมว่า เชื่อว่าบัณฑิตวิทยาลัยและคณะต่าง ๆ ที่จัดการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีเขตชายแดนติดกับ สปป.ลาว เช่น วิทยาเขตหนองคาย จังหวัดหนองคาย หรือวิทยาลัยสงฆ์เลย จังหวัดเลยเป็นต้น และอีกหลาย ๆ จังหวัด มีความยินดีที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของมจร.

พระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ได้กล่าวถึงการจัดการหลักสูตรสาขาวิชาต่าง ๆ ในคณะ โดยเฉพาะหลักสูตรที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตไปทำกิจกรรมด้านสังคมสังเคราะห์ช่วยเหลือชุมชนสังคม และสนองงานคณะสงฆ์ หากคณะสงฆ์ลาวและประชาชนสนในสาขาวิชาดังกล่าว คณะพร้อมดำเนินการตามนโยบายของมหาวิทยาลัย

โอกาสนี้ พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มจร.ได้แนะนำหลักสูตรในคณะครุศาสตร์ และกล่าวถึงการพัฒนางานในกิจการคณะสงฆ์ โดยได้ยกประเด็นเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยมีการจัดให้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม และแผนกบาลี แล้วยังมีพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ คือ การจัดการศึกษาทางโลกให้กับศาสนทายาทที่เป็นสามเณรหรือพระสงฆ์ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาที่ 1- 6 อีกส่วนหนึ่งด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ในการวางรากฐานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ที่สำคัญ

ในช่วงท้ายพระโสภณวชิราภรณ์ ได้กล่าวสรุปประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม พร้อมกับกล่าวขอบคุณ และอนุโมทนา หลังจากนั้นได้มอบของที่ระลึกและบันทึกภาพรวมกัน