วธ. โดยกรมศิลปากร จัดสุดยิ่งใหญ่ “สัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย” การแสดงนาฏศิลป์ ดนตรี โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์เปิดเข้าชมฟรี

0
2685

 

“วีระ” เผยปชช.ร้อยละ 83.08 ทราบ 2 เม.ย.  “วันอนุรักษ์มรดกไทย” วันคล้ายวันพระราชสมภพ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  โบราณสถาน-วัด-อุทยานประวัติศาสตร์เป็น “มรดกไทย” ที่คนไทย รัก ภูมิใจมากที่สุด ปชช. เสนอแนะแนวทางร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม ภาษาถิ่น การแต่งกายด้วยผ้าไทย ชุดไทย ชุดพื้นเมือง

เมื่อวันที่ 2 เมษายน เวลา 17.30 น. ที่เวทีกลางแจ้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2561 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยกรมศิลปากร กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน 2561 โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวรายงาน ร่วมด้วยผู้บริหารวธ. ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายวีระ กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าวธ. ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชน ในหัวข้อ “วันอนุรักษ์มรดกไทย” จากกลุ่มตัวอย่าง 3,117 คน ทั่วประเทศ ผลสำรวจพบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชน ร้อยละ 83.08 ทราบว่า วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติมากขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 60.36 ทราบว่า วธ.จัดกิจกรรมสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย ร้อยละ 54.67 ระบุจะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ และกิจกรรมที่สนใจเข้าร่วมมากที่สุด อันดับ 1 การแสดงทางวัฒนธรรมตามวิถีชีวิตแต่ละท้องถิ่น อันดับ 2 การรณรงค์ “ชาวคุณธรรมร่วมใจ นุ่งผ้าไทย สืบสานวัฒนธรรม อันดับ 3 เทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วัดทั่วประเทศ อันดับ 4 ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณประโยชน์ โบราณสถาน ศาสนสถาน และอันดับ 5 เข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ

 

นายวีระ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับความเข้าใจความหมายคำว่า “มรดกไทย” พบว่า ร้อยละ 84.22 ระบุว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ร้อยละ 75.25 โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน ร้อยละ 40.52 แนวทางการดำเนินชีวิตและสืบทอดประเพณีของคนไทย ร้อยละ 29.31 วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี

ทั้งนี้ได้สอบถามถึง “มรดกไทย” ที่เด็ก เยาวชนและประชาชนรักและภูมิใจมากที่สุด อันดับแรก โบราณสถาน อาทิ วัด โบสถ์ วิหาร วัง พระปฐมเจดีย์ อุทยานประวัติศาสตร์ รองลงมา ประเพณีไทย อาทิ สงกรานต์ อุ้มพระดำน้ำ ลอยกระทง แห่เทียน ผีตาโขน มรดกภูมิปัญญาไทย อาทิ สมุนไพรไทย อาหารไทย ขนมไทย เครื่องแต่งกาย ดนตรีไทย อาทิ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี เครื่องเป่า และนาฏศิลป์ไทย อาทิ โขน ละคร รำ ระบำ การละเล่นพื้นเมืองและมหรสพไทย

ขณะเดียวกันผลสำรวจยังได้สอบถามความคิดเห็นเรื่อง มรดกไทยที่ใกล้จะสูญหาย ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบทอดมากที่สุด ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า อันดับแรกวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ ภาษาถิ่น การแต่งกายผ้าโบราณ อาหาร ศิลปะพื้นบ้าน รองลงมา ช่างสิบหมู่ อาทิ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างปั้น ช่างรัก ดนตรีไทยการแทงหยวก ผ้าไหมและเครื่องทอง

นอกจากนี้ ได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกไทย โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่า ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทย ชุดไทย และชุดพื้นเมือง ส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชนหันมาเล่นดนตรีไทยมากขึ้น สื่อสารด้วยภาษาไทย และภาษาถิ่น ไม่ทำลาย มรดกทางวัฒนธรรม เพราะอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวมทั้งมีจิตสำนึก ตระหนัก และรู้คุณค่าของมรดกไทย

รมว.วธ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่กลุ่มตัวอย่างสนใจมากที่สุด  อันดับแรก อุทยานประวัติศาสตร์ อาทิ พระนครศรีอยุธยา กำแพงเพชร สุโขทัย พิมาน พนมรุ้ง รองลงมา โบราณสถาน อาทิ วัด วัง โบสถ์ วิหาร มัสยิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ส่วนความประทับใจวิธีการนำเสนอข้อมูลทางวัฒนธรรมโดยผ่านเทคโนโลยีที่มีมากที่สุดพบว่า  อันดับ 1 ระบบ “สมาร์ทมิวเซียม” เป็นการนำชมในรูปแบบของระบบเสมือนจริงโดยผ่านสมาร์ทโฟน อันดับ 2 การรวบรวมข้อมูลข่าวสาร โบราณสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ แหล่งเรียนรู้ หอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติผ่านระบบออนไลน์ “Silpakorn Online” อันดับ 3 ระบบ QR Code และ AR Code ในการนำชมโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุ อันดับ 4 ระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุผ่านเว็บไซต์ และอันดับ 5 ระบบรวบรวมข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า ควรนำเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาพัฒนาแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ และอุทยานประวัติศาสตร์ ในเรื่องการจัดเก็บ รวบรวมข้อมูล ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียด ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นระบบ สามารถสืบค้นได้ง่าย จัดทำแผนที่แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จัดทำ QR CODE เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการเข้าไปศึกษารายละเอียด หรือเรื่องที่อยากรู้ โดยผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน จัดทำเป็นภาพยนตร์ แอนนิเมชั่น โดยใช้แสง สี เสียง เทคโนโลยีในรูปแบบที่ทันสมัยและน่าสนใจ รวมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแบบอย่างในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติด้วยพระวิริยอุตสาหะตลอดมา ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมแก่สาธารณชน เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย วธ.โดยกรมศิลปากร จึงกำหนดจัดงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อให้ประชาขนเข้าชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี อาทิ การแสดงโขน เรื่อง อัทภุตรามายณะ ตอน สีดาออกศึก การแสดงละครชาตรี เรื่อง รถเสน การแสดงละครพันทาน เรื่อง ราชาธิราช ตอน สมิงพระรามอาสา-แต่งงาน โดยศิลปินจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ณ เวทีกลางแจ้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่เวลา 17.30 – 20.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้าชมโรงราชรถ และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตลอดจนเลือกซื้อหนังสือที่จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากรได้ภายในงาน

 

 

 

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า  เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรม จึงเปิดให้ประชาชนเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชมในวันที่ 2 เมษายน 2561 พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์การดูและรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม ณ โบราณสถานสำคัญทั่วประเทศ โดยในกรุงเทพฯ จัดกิจกรรมที่วัดกำแพงบางจาก เขตภาษีเจริญ และจัดกิจกรรมใหญ่เพื่อรณรงค์ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ณ เมืองโบราณดงละคร จ.นครนายก ภาคเหนือ ณ โบราณสถานเวียงท่ากาน จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ปราสาททองหลาง จ.อุบลราชธานี ภาคใต้ ณ โบราณสถานเขาศรีวิชัย จ.สุราษฎร์ธานี