บอร์ดศิลปะร่วมสมัยรับทราบตั้งอนุกก. “ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ 2018” จ.กระบี่ กำชับสศร.เผยแพร่ข้อมูล-ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงทั้งในไทย-ต่างประเทศ

0
959

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 2/2561 โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมและกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม ชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ซึ่งที่ประชุมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Krabi 2018 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 รวมเวลา 4 เดือน ณ จังหวัดกระบี่  ซึ่งมีรมว.วธ.เป็นประธานอนุกรรมการฯ และอนุกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ อาทิ วธ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ จังหวัดกระบี่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการดำเนินโครงการฯ ให้คำปรึกษาสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นการเปิดเวทีใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้แก่ศิลปินไทยสู่ความเป็นเลิศด้านศิลปะ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านบริหารจัดการงานศิลปะร่วมสมัย งานด้านภัณฑารักษ์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายวธ.ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ 5 ด้าน ประกอบด้วย อาหาร ภาพยนตร์ มวยไทย แฟชั่นและเทศกาล เพื่อสร้างรายได้สู่ประชาชนและประเทศ  รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พ.ศ.2560-2564) ในการบูรณาการความร่วมมือเชิงรุก เพื่อพัฒนาศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของทุกภาคส่วนทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและประเทศ

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(สป.วธ.) และหน่วยงานอื่นๆ ของวธ. รวมทั้งกระทรวงต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชนในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมโครงการฯ รวมทั้งจัดทำโปสเตอร์ เอกสาร แผ่นพับและสื่อวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไทยและชาวต่างชาติทั้งในไทยและต่างประเทศได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งเบื้องต้นสศร.รายงานว่า ขณะนี้มีศิลปินร่วมสมัยทั่วโลกจาก 24 ประเทศ ทั้งไทย เอเซีย อเมริกาและยุโรปเข้าร่วมโครงการแล้ว 70 คน ขณะเดียวกันที่ประชุมมอบหมายให้สศร.ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของวธ.วางแผนจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลาที่ดำเนินโครงการฯ อาทิ การจัดฉายสุดยอดภาพยนตร์ในสมัยรัชกาลที่ 9 การเดินแบบ สุดยอดแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ 9 ในจังหวัดกระบี่ เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาชมกิจกรรมและผลงานศิลปกรรมในโครงการฯ

นายวีระ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมรับทราบการขับเคลื่อนโครงการ 4 DNA ซึ่งเป็นการหาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่มาจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้สู่ประชาชนและท้องถิ่น โดยจัดทำประชาพิจารณ์หน่วยงาน รัฐ เอกชนและภาคประชาชน ซึ่งได้ยกจังหวัดพิษณุโลกมาเป็นกรณีศึกษา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สศร.เริ่มนำร่องแล้วใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม พิษณุโลก ระยอง และ นครศรีธรรมราชและจะขยายโครงการไปสู่จังหวัดต่างๆ เน้นจังหวัดที่ประกาศเป็นเมืองศิลปะ คือ เชียงราย นครราชสีมา และกระบี่

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรูปแบบและขั้นตอนการรับบริจาคเงินเข้ากองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย โดยรับเป็นเงินสดหรือเช็คสั่งจ่ายในนามกองทุนฯ และบริจาคด้วยตนเองได้ที่กลุ่มบริหารกองทุนฯ สศร. ชั้น 3 กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ หรือโอนผ่านธนาคาร เข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) สาขา เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ประเภทกระแสรายวัน ชื่อบัญชี “กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย” เลขที่บัญชี 031-6-04289-7 ทั้งนี้ ผู้บริจาคจะต้องส่งรายละเอียดชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้บริจาค หรือชื่อของผู้ที่จะนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีโดยบุคคลธรรมดาและบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค พร้อมส่งหลักฐานการโอนเงินโดยทันทีที่โทรสารหมายเลข 02202-9642 หรืออีเมล [email protected]