ครั้งแรกของไทย “นายกรัฐมนตรี” รับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มรดกล้ำค่าจากประชาชน จำนวน ๑๐๔ รายการ กรมศิลปากรนำไปอนุรักษ์เป็นสมบัติของชาติ

0
2182

วันนี้ (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีรับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากนายธรรมฤทธิ์ จิรา ผู้ครอบครองโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำนวน ๑๐๔ รายการ เพื่อเป็นสมบัติของชาติในความดูแลของกรมศิลปากรต่อไป โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดวธ. นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และผู้บริหารวธ. เข้าร่วมในพิธี

นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีรับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ว่า ในนามรัฐบาล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มารับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากนายธรรมฤทธิ์ จิรา และครอบครัว เพื่อเป็นสมบัติของชาติต่อไป โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเหล่านี้เป็นมรดกอันล้ำค่า และยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติไทย ซึ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเหล่านี้นอกจากจะมีคุณค่าทั้งด้านอายุและศิลปกรรมแล้ว ยังมีคุณค่าทางภูมิปัญญาที่นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพชนในอดีตบนผืนแผ่นดินไทย ทำให้เห็นความกระจ่างชัดของพัฒนาการทางสังคมที่ก้าวเดินมาถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทั้ง ๑๐๔ รายการ ที่นำมามอบให้ในครั้งนี้ มีความหลากหลายและมีที่มาจากหลายแหล่ง ทั้งแหล่งโบราณคดีในภาคกลาง แหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำชี และแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำสงคราม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ล้วนแสดงถึงอารยธรรมบนผืนแผ่นดินไทย ที่มีความเจริญอย่างต่อเนื่องมายาวนานนับกว่า ๔,๐๐๐ ปี จึงเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ การส่งมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กลับคืนเป็นสมบัติของชาตินั้น ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรักและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เกิดความเสียสละ อุทิศเพื่อเป็นสมบัติของคนทั้งชาติ และขอชื่นชมกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากรที่มีการส่งเสริมและดูแลงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเข้มแข็งและจริงจังมาโดยตลอด

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลตระหนักถึง ความสำคัญของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มรดกอันล้ำค่าของชาติ จึงมีนโยบายในการติดตามหรือขอคืนโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในต่างประเทศให้กลับมาเป็นสมบัติของชาติ  โดยบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ และในช่วงที่ผ่านมา ได้รับคืนโบราณวัตถุของไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศออสเตรเลีย จำนวน ๘ ครั้ง รวม ๗๕๑ รายการ และเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ กระทรวงวัฒนธรรมได้รับการติดต่อจากนายธรรมฤทธิ์ จิรา ว่ามีความประสงค์จะส่งมอบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง อายุราว ๑,๘๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ ปี จำนวน ๑๐๔ รายการ ไว้เพื่อเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนแสดงเจตจำนงจะมอบโบราณวัตถุอันทรงคุณค่า จำนวนมากให้กับราชการ

รมว.วธ. กล่าวต่อว่า สำหรับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่นายธรรมฤทธิ์ จิรา มอบให้เป็นสมบัติของชาติในครั้งนี้ มีทั้งโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว ๑,๘๐๐ – ๔,๓๐๐ ปีมาแล้ว ประกอบด้วยเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้สำริด เครื่องประดับทำด้วยหิน แก้ว และเปลือกหอย บางชิ้นได้รับการซ่อมแซมต่อเติมให้มีสภาพสมบูรณ์  และมีวัตถุจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นศิลปวัตถุทำขึ้นเลียนแบบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รวมทั้งสิ้น ๑๐๔ รายการ

นายธรรมฤทธิ์ จิรา เจ้าของผู้ครอบครองโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กล่าวว่า  ตนและครอบครัวรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสมาในพิธีรับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อเป็นสมบัติของชาติ ในครั้งนี้ ผมและครอบครัวได้ปรึกษากันเรื่องการเก็บรักษาโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สะสมและเก็บรักษามาตั้งแต่สมัยคุณพ่อของผม ทางครอบครัวผมจึงตกลงกันว่า จะนำโบราณวัตถุทุกชิ้นกลับคืนสู่แหล่งอารยธรรมเดิม เพื่อให้เป็นสมบัติของชาติและให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้กันต่อไป ขอกราบขอบคุณ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้สละเวลามาเป็นประธานในพิธี ขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อธิบดีกรมศิลปากร รองอธิบดีกรมศิลปากร เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร  แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมในพิธีครั้งนี้  และขอขอบคุณ พลตรี ศรชัย มนตริวัต ที่แนะนำการมอบโบราณวัตถุให้กับกระทรวงวัฒนธรรม จนประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และที่จะลืมไม่ได้เลยคือ ขอบคุณภรรยาและลูกสาวทั้งสามคนของผมที่ให้การสนับสนุนผมมาโดยตลอด   จนมีวันนี้เกิดขึ้น

กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ในกลุ่มโบราณวัตถุ ซึ่งได้รับมอบสามารถกำหนดอายุสมัยตามแหล่งที่มา ดังนี้  ๑. กลุ่มโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคกลาง  หลักฐานประเภทภาชนะดินเผาที่พบ ที่มีลักษณะโดดเด่นคือ ภาชนะดินเผาทรงก้นกลม คอคอด ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่มีฐานเตี้ย และไม่มีฐาน ภาชนะดินเผาที่มีลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมนี้น่าจะได้แก่ภาชนะดินเผาทรงพานสูง และทรงบาตร นิยมตกแต่งผิวภาชนะด้วยการทาน้ำดินสีแดง กดประทับด้วยลายเชือกทาบ หรือขูดขีดด้วยเครื่องมือปลายแหลม   มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านพุน้อย อำเภอบ้านหมี่ จังหวดลพบุรี กำหนดอายุราว ๑,๕๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ๒. กลุ่มวัฒนธรรมลุ่มน้ำสงครามหรือกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง  ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี สกลนคร และหนองคาย หรือกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ภาชนะดินเผาในกลุ่มนี้มีรูปทรงที่หลากหลาย และสามารถจำแนกลักษณะออกเป็น ๓ ยุค ได้แก่ ๒.๑  ภาชนะดินเผาสมัยต้น อายุระหว่าง ๓,๐๐๐ – ๔,๓๐๐ ปีมาแล้ว เป็นภาชนะดินเผาสีดำหรือเทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ย ตัวภาชนะมักจะตกแต่งด้วยลายขีดเขียนเป็นเส้นคดโค้ง ลายเชือกทาบ และลายกดประทับ ๒.๒ ภาชนะดินเผาสมัยกลาง อายุ ๒,๓๐๐ – ๓,๐๐๐ปี ลักษณะเด่น คือ มีขนาดใหญ่ ผิวนอกเป็นสีขาว ไหล่ภาชนะหักเป็นมุม มีทั้งแบบก้นกลมและก้นแหลม บางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนหรือทา ด้วยน้ำดินสีแดง ๒.๓ ภาชนะดินเผาสมัยปลาย อายุ ๑,๘๐๐ – ๒,๓๐๐ปี นิยมเขียนลายและตกแต่งภาชนะด้วยสีแดง เป็นลวดลายที่สื่อถึงความหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ  อาทิ ลายงู  ลายก้นหอย และลายรูปสัตว์ เป็นต้น

โบราณวัตถุกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่นายธรรมฤทธิ์ จิรา มอบในครั้งนี้ ยังประกอบไปด้วย เครื่องมือเครื่องใช้โลหะ ซึ่งบ่งบอกถึงการสร้างสรรค์งานโลหะกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมบ้านเชียง ได้แก่ เครื่องประดับสำริด  ๓. โบราณวัตถุกลุ่มแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำมูล  ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล พบวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปทรงหลากหลาย ที่โดดเด่นคือแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี ภาชนะดินเผากลุ่มนี้จะมีลักษณะพิเศษ คือ มีเนื้อดินสีส้ม การตกแต่งด้วยการขูดขีดที่บริเวณขอบปาก วัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องประดับ เครื่องใช้สอยสำริด พบว่าเทคนิคการผลิตเพื่อใช้หล่อสำริดมีฝีมือประณีต ซับซ้อน มีเทคนิคและลวดลายกับเครื่องสำริดในคล้ายกับวัฒนธรรมดองเซิน ประเทศเวียดนาม  กำหนดอายุสมัยอยู่ในราว ๑,๕๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ภาชนะดินเผาและวัตถุทางโบราณดีต่างๆ เหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการใช้ศึกษาวิเคราะห์ถึงวิถีชีวิตมนุษย์สมัยโบราณในแง่มุมต่าง ๆ ได้ อาทิ พฤติกรรมด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ศิลปะ และสังคม เป็นหลักฐานในการจัดลำดับอายุสมัย และบ่งบอกช่วงเวลาของวัฒนธรรมและชุมชนในแหล่งโบราณคดีนั้น ๆ เป็นหลักฐานในการคำนวณความหนาแน่นของประชากร

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า โบราณวัตถุที่ได้รับมอบในครั้งนี้จะถูกนำไปตรวจสภาพ และทำการอนุรักษ์เบื้องต้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ จากนั้นจึงจะนำไปเก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อสำหรับนำไปศึกษา หรือนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในแหล่งโบราณคดีนั้น ๆ ต่อไป

“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””