สถ.นำทีมลงพื้นที่ จ.สงขลา ขับเคลื่อนโครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ประเทศไทยไร้กลิ่นจากขยะ ประเมินผลการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

0
860

วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2562) เวลา 08.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายธนา ยันตรโกวิท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้านนโยบายและแผน และผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ตรวจติดตามโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก จากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน โดยมีนายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายพนมเทียน เส้งวั่น ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นางกัลยา บุญญามณี ปลัดเทศบาลนครสงขลา นายเจือ กิ้มอั้น นายกเทศมนตรีตำบลพะวง นายสุพล สุขหอม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรัตภูมิ และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลพะวง จากนั้นเดินทางไปยังครัวเรือนตัวอย่างในพื้นที่ เพื่อติดตามการดำเนินงานการจัดเก็บข้อมูลขยะเปียกครัวเรือน ณ บ้านห้วยขัน เทศบาลตำบลพะวง จ.สงขลา

“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

……………………………………………………………………………………………………………….

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 30 วัน ในเบื้องต้น ทดลองการเก็บกลุ่มตัวอย่าง 5 จังหวัดใน 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย และจังหวัดยโสธร ภาคกลาง จังหวัดลพบุรี และภาคใต้ จังหวัดสงขลา โดยแต่ละจังหวัดจะมีการดำเนินการใน 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ประเภทครัวเรือน ประเภทศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และประเภทโรงเรียน ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของ สถ. ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารบำรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ซึ่งในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ ก็อาจมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชนได้ ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พัฒนาระเบียบวิธีวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากลให้ด้วย

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะเครือข่ายจิตอาสา ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังสตรีหรือพลังแม่บ้านในการเป็นจิตอาสาห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยสังคม และชุมชน ได้รับมอบนโยบายและเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ โดยการคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน ซึ่งแม่บ้านเป็นผู้ใกล้ชิดที่สุด โดยทำการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป และต้องช่วยรณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นได้มามีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ตนเองและชุมชน ทั้งยังเป็นการช่วยลดรายจ่ายจากการนำสารบำรุงดินที่ได้จากการทำถังขยะเปียกมาใช้ในการปลูกผักสวนครัว หรือประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอื่นๆ ได้ด้วย และที่สำคัญช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

ในตอนท้าย นายสุทธิพงษ์ และ ดร.วันดี ได้กล่าวชื่นชมเทศบาลตำบลพะวง และองค์การบริหารส่วนตำบลรัตภูมิ ที่เร่งดำเนินการการจัดการขยะเปียกครัวเรือนนำร่อง เพื่อคำนวณหาค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหาร ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารบำรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ทั้งของครัวเรือนในพื้นที่อำเภอเมือง เทศบาลตำบลพะวง 375 ครัวเรือน และของพื้นที่อำเภอควนเนียง องค์การบริหารส่วนตำบลรัตภูมิ 300 ครัวเรือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้พี่น้องประชาชนได้เกิดความตระหนักในเรื่องของการจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก โดยการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนของตนเอง เพื่อนำขยะเปียกเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้ และยังสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย และต้องขอขอบคุณท่านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะผลักดันการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนนี้ให้ครบทุกครัวเรือนในพื้นที่ต่อไปด้วย ก็ขอให้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรม ร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองของเราให้น่าอยู่ขึ้น เพราะความสำเร็จอยู่ที่จิตสำนึกของทุกคน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นการ Change For Good เปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่า เปลี่ยนเพื่อประเทศไทยที่สวยงามขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญโครงการนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อนในแบบที่ทำตามได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน เพื่อให้แผ่นดินนี้สมบูรณ์ด้วยสารบำรุงดินจากถังขยะเปียก และทำให้ประเทศไทยไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าจากขยะอีกต่อไป ถ้าหากทุกคนใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง คุณก็จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นนั่นเอง