30 หน่วยงานร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงปี 2566 ยิ่งใหญ่ คลอด 12 แนวทาง ขอความร่วมมืออนุรักษ์คุณค่าวัฒนธรรมอันดีงาม เน้นปลอดภัย ไม่ดื่มน้ำเมา

0
143

ชวนแต่งผ้าไทย-ชุดท้องถิ่นลอยกระทง เผยแพร่ความรู้ ดึงชาวต่างชาติเที่ยวไทย  สร้างรายได้เข้าประเทศหนุนนโยบาย THACCA  เตรียมเสนอยูเนสโกขึ้นทะเบียน “ประเพณีลอยกระทง” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติปี 67

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการการบูรณาการการกำหนดแนวทางการจัดงานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2566 ครั้งที่ 1/2566 เป็นที่น่ายินดีว่า ปีนี้มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง 30 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์  โดยที่ประชุมได้รับทราบนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการขับเคลื่อนงานประเพณีที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล(Thailand Creative Content Agency -THACCA) ในการสร้างการรับรู้งานเฟสติวัลของไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ  และนโยบายของ วธ. ในการส่งเสริมคุณค่าเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆ ด้านวัฒนธรรมให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ปีนี้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานทั่วประเทศร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี สร้างความประทับใจ อำนวยความสะดวก ความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้เกิดความประทับใจกลับมาท่องเที่ยวไทยอีก

นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปีนี้มีสถานที่จัดงานทั้งในกรุงเทพฯ เช่น วัดอรุณราชวราราม คลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่างและต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ สุโขทัย เชียงราย พระนครศรีอยุธยา ร้อยเอ็ด นครศรีธรรมราช สมุทรสงคราม เป็นต้น ที่ประชุมเห็นด้วยในการขอความร่วมมือไม่เล่นพลุ ดอกไม้ไฟ ประทัดยักษ์  รณรงค์ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่จัดงานประเพณีลอยกระทงและขณะขับขี่ยานพาหนะ การควบคุมป้องกันโรคติดต่อ  การประดิษฐ์กระทงด้วยวัสดุในท้องถิ่นหรือวัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เชิญชวนคนไทยแต่งไทยหรือชุดท้องถิ่นมาร่วมงานประเพณีลอยกระทงและการประชาสัมพันธ์งานทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ

 นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมประเพณีลอยกระทง   ในปี 2566 ครอบคลุมในประเด็นคุณค่าสาระของวัฒนธรรมประเพณี วิถีอัตลักษณ์ท้องถิ่น การท่องเที่ยวและสุขภาพ ตลอดจนความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้ 1. จัดกิจกรรมเน้นคุณค่าและสาระของวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวและสุขภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความหลากหลายของแต่ละท้องถิ่น  2. ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรมทางศาสนา ความเชื่อ ในประเพณีลอยกระทงอย่างเหมาะสม 3. รณรงค์ให้ประชาชนสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีลอยกระทง รักษาความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง ประดิษฐ์กระทงด้วยวัสดุในท้องถิ่นหรือวัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาหรือความเชื่อที่นับถือ 4. สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรมการละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น 5. ผู้เข้าร่วมงาน ควรคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การไม่คุกคามทางเพศ การไม่เล่นประทัด พลุ ดอกไม้ไฟในที่สาธารณะ และการไม่สร้าง ความวุ่นวายหรือความเดือดร้อนต่อผู้อื่นในที่สาธารณะ เป็นต้น 6. ขับขี่ยานพาหนะและใช้ถนนหนทางให้ปฏิบัติตาม กฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม 7. การดำเนินการจัดงานตามคำแนะนำในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โรคติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่น ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8. ส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีลอยกระทงทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และระหว่างประเทศ 9. ส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ในการเผยแพร่คุณค่าสาระของประเพณีลอยกระทงที่แท้จริงของต่อชาวต่างชาติ 10.ส่งเสริมในการสร้างความตระหนักรู้ต่อประชาชนเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติ สร้างความภาคภูมิใจและหวงแหนในประเพณีลอยกระทงต่อประชาชน 11. รณรงค์ให้ประชาชนสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยในการเข้าร่วมกิจกรรม ประเพณีลอยกระทง เช่น แต่งกายด้วยชุดสุภาพผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น หรือชุดไทยที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เป็นต้น 12. ส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดคุณค่าสาระลอยกระทง เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน และยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ วธ. จะมีการเก็บข้อมูลเทศกาลประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (ยูเนสโก)  ในปี 2567 ด้วย

****************************************************************