โครงการสวดมนต์ฯ วันที่ 15 มี.ค. คณะสงฆ์นำอุบาสก อุบาสิกาสวดมนต์ทำความดีด้วยหัวใจ ถวายพระธาตุขามแก่น-พระธาตุแก่นนคร-พระธาตุภูเพ็ก

0
2602

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ศิษย์เอกหลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม  อ.เมือง จ.นครปฐม เปิดเผยว่า ตามที่คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ ได้พร้อมใจกันจัดโครงการสวดมนต์ถวายเป็นพุทธบูชาทุกพระธาตุทั่วไทย และร่วมกันกระทำความดีด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ โดยทั้งหมดเป็นคณะอุบาสก อุบาสิกาที่ศรัทธาเลื่อมใสในพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระมงคลสิทธิการ (หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข) สุดยอดพระอมตะเถราจารย์ ที่สำคัญโครงการดังกล่าวนี้เน้นวิถีปฏิบัติซึมซับบทสวดเจริญพระพุทธมนต์ เสริมสมาธิสติปัญญา ทั่วแดนดินถิ่นอีสาน สวดถวายพระมหาธาตุศักดิ์สิทธิ์ ถวายเป็นพุทธบูชา โดยในวันที่ 15 มีนาคม 2562 สวดที่พระธาตุขามแก่น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น พระธาตุแก่นนคร อ.เมือง จ.ขอนแก่น และพระธาตุภูเพ็ก อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

สำหรับพระธาตุขามแก่น ประดิษฐาน ณ วัดเจติยภูมิ บ้านขาม เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพบูชาของคนทั่วไป ลักษณะเป็นเจดีย์ยอดฉัตรทองคำ ฐานบัวคว่ำสองชั้น โค้งขึ้นไปเป็นบัลลังก์ต่อด้วยเรือนธาตุและยอดธาตุ ซึ่งย่อมุมกลีบมะเฟือง พระธาตุขามแก่นมีตำนานเล่าว่า คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า จากเมืองโมรีย์ ประเทศกัมพูชา นำโดยกษัตริย์เจ้านครโมรีย์ พร้อมด้วยพระอรหันต์ 9 องค์ ได้เดินทางเพื่อนำพระอังคารธาตุไปบรรจุในพระธาตุพนม ซึ่งระหว่างนั้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ระหว่างทางได้แวะพักในบริเวณดอนมะขาม อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุขามแก่นในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือเพียงแก่นและได้นำพระอังคารธาตุไปวางพักไว้บนแก่นมะขามนั้น รุ่งเช้า จึงเดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป เมื่อไปถึงปรากฏว่า พระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงต้องนำพระอังคารธาตุ กลับตามเส้นทางเดิม โดยตั้งใจว่าจะนำกลับไปยังนครโมรีย์ของตนตามเดิม เมื่อกลับมาถึงดอนมะขามที่เคยพักแรม ได้เห็นมะขามต้นที่ตายเหลือแต่แก่นกลับฟื้นคืนชีวิตแตกใบเขียวชอุ่ม น่าอัศจรรย์ จึงพร้อมใจกันสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม บรรจุพระอังคารธาตุ พระพุทธรูปไว้ภายใน ให้นามว่า “พระธาตุขามแก่น”

 

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนพระธาตุแก่นนครประดิษฐานภายในวัดพระธาตุหนองแวง  ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมืองขอนแก่น พระธาตุแก่นนคร มีเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยม เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสาน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ 100 องค์ ประดิษฐานอยู่ด้วย

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ที่สุดท้ายของภาคอีสาน คณะสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ คือพระธาตุภูเพ็ก เป็นปราสาทขอมโบราณสร้างขึ้นบนยอดเขา ขึ้นบันได 500 ขั้น สร้างด้วยหินทรายอยู่บนฐานศิลาแลง สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม หลังคาปราสาทเปิดโล่ง ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะแบบขอม ซึ่งพระธาตุแห่งนี้สร้างเหมือนปราสาทขอม ตามประวัติศาสตร์การสร้างพระธาตุภูเพ็กนั้นกล่าวว่า พระธาตุแห่งนี้สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ภายหลังได้ดัดแปลงให้กลายเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ การสร้างพระธาตุสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้ชายเพื่อแข่งขันกับผู้หญิง ซึ่งกลุ่มผู้หญิงนี้ก็คือกลุ่มที่สร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวงนั่นเอง โดยการแข่งขันสร้างพระธาตุนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะรอบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง ผลสุดท้ายกลุ่มผู้ชายได้ยุติการสร้างไปก่อนเนื่องจากได้มองเห็นดาวเพ็กบนท้องฟ้า ซึ่งนั่นก็คือกลลวงของกลุ่มผู้หญิงนั่นเอง ด้วยเหตุนี้พระธาตุแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “พระธาตุภูเพ็ก” นอกจากศาสนสถานอันงดงามแล้ว ด้านบนที่ตั้งพระธาตุภูเพ็ก ยังมีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีซุ้มป่าไผ่โค้งที่ให้ความร่มรื่น ผนวกกับศิลปะขอมโบราณอันวิจิตรงดงาม มีความเงียบสงบไร้ซึ่งความวุ่นวาย อย่างแท้จริง