สธ. ให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัด เป็นโรงพยาบาลคุณภาพ HA และเดินหน้าความปลอดภัย 2P Safety

0
1516

กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้โรงพยาบาลในสังกัดต้องเป็น 2P Safety Hospital 100% ตั้งเป้าโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ให้ความสำคัญความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางสาธารณสุข

วันนี้ (15 มีนาคม 2562) ณ อิมแพคเมืองทองธานี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยนายแพทย์สุขุม   กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปิดการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 20 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “โรงพยาบาล HA โรงพยาบาลคุณภาพและความปลอดภัย”

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า โรงพยาบาลในประเทศไทย ได้พัฒนากระบวนการคุณภาพและผ่านการรับรองตามมาตรฐาน HA มากว่า 20 ปี เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข  (Patient and Personnel Safety : 2P Safety) ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 16  กันยายน 2559 ร่วมกับผู้บริหาร 16 องค์กร เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สภาวิชาชีพ 6 สภาวิชาชีพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นต้น

ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ปี 2562 มีโรงพยาบาลสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาเป็น 2P Safety Hospitals จำนวน 371 แห่ง ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในทุกสังกัด แสดงถึงการให้ความสำคัญของผู้บริหารในการพัฒนาระบบเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรต้องทำ ด้วยสมัครใจ โดยในปีนี้ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบร่วมกันให้โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เป็น “2P Safety Hospital” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์บริการที่ดีทั้งกับผู้ป่วย ญาติ และบุคคลากร ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน นำไปสู่การมีระบบและวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ดีในระบบบริการสุขภาพอย่างยั่งยืน

 “แนวคิดงานประชุมวิชาการในปีนี้ เชื่อมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุข องค์กรวิชาชีพ และองค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันผลักดันนโยบาย 2P Safety มีความตั้งใจดีที่จะร่วมกันสร้างระบบบริการสุขภาพที่ดีเพื่อทุกคน แต่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายใด ๆ ก็ตามไม่สามารถสำเร็จผลได้ หากไม่มีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติด้วยความเข้าใจ วันนี้ผมเห็นโอกาสแห่งความสำเร็จของนโยบายนี้ เพราะนอกจากโรงพยาบาลจะนำแนวทาง หลักคิด วิธีการเรื่อง 2P Safety ไปปฏิบัติแล้ว สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลยังบูรณการ เรื่อง National Patient and Personnel Safety เข้าไปในมาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลฉบับปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สามารถจับต้องได้คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร” ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล  กล่าว

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

ขณะที่ นพ.กิตตินันท์  อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ อยากเห็นเจ้าหน้าที่และคนที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาลได้เข้าใจ ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายเพื่อนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คาดหวังว่าจะเห็นประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“โรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพจะต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงระบบงาน กระบวนการรองรับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย ที่จะมีเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น ในโรงพยาบาลเล็กๆ จะมีเทคโนโลยีช่วยในการรักษา หรือแม้แต่ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ในส่วนของสถานบริการ จะมีการเปลี่ยนแปลงในมิติของการเชื่อมต่อกับหน่วยงานภายนอก เช่น การส่งยา เวชภัณฑ์ เพื่อให้ตอบโจทย์ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 3-5 ปีข้างหน้า  ซึ่งการ AI หรือ เทคโนโลยีและหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น” นพ.กิตตินันท์ กล่าว

ทั้งนี้ ในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบประกาศนียบัตร ให้กับสถานพยาบาลผ่านการต่ออายุการรับรองกระบวนการคุณภาพ (HA)จำนวน 233 แห่ง,  กิตติกรรมประกาศ เครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด จำนวน 4 เครือข่าย, กิตติกรรมประกาศ สถานพยาบาลผ่านการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค จำนวน 18 แห่ง, ประกาศนียบัตร สถานพยาบาลที่บรูณามิติจิตวิญญาณในการพัฒนาคุณภาพ (SHA Award) จำนวน 6 แห่ง, กิตติกรรมประกาศ สถานพยาบาลผ่านกระบวนการคุณภาพขั้นที่ 2 จำนวน 9 แห่ง และ กิตติกรรมประกาศ สถานพยาบาลผ่านกระบวนการคุณภาพขั้นที่ 1 จำนวน 7 แห่ง

นอกจากนี้ นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบเกียรติบัตรชื่นชมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) จำนวน 48 อำเภอ และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) 2 เขต ของกรุงเทพมหานคร ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน และเป็นแบบอย่างที่ดี และกล่าวว่า การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ตำมแนวคิด “พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ก่อให้เกิดวัฒนธรรม “คนอำเภอเดียวกันไม่ทอดทิ้งกัน” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม เกิดชุมชนสุขภาวะ เมืองสุขภาพดี เป็นสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน