แฉ!! มีบุคคล “ตกเบ็ด” เรียกรับประโยชน์การสอบเข้าราชการส่วนท้องถิ่น

0
1205

 

อธิบดี สถ. เตือน !! อย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างแสวงหาผลประโยชน์จากการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2562) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2545 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นองค์กรที่มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น แต่ปรากฏว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการทุจริต การใช้ระบบอุปถัมภ์ หรือการเรียกรับผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงปีที่ 2554 – 2559 มีปัญหาเกี่ยวกับการทุจริต หรือส่อไปในทางทุจริตในหลายรูปแบบและเกือบทุกขั้นตอน มีการเรียกรับผลประโยชน์ เกิดปัญหามาตรฐานในการดำเนินการสอบ หรือแม้กระทั้งมาตรฐานของข้อสอบ ทำให้ อปท. ไม่ได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะที่เหมาะสม สภาพปัญหาดังกล่าวเริ่มรุนแรงขึ้น จนกระทั้งในปี 2559 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 32 แห่ง และสั่งให้พนักงานส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไปช่วยราชการจังหวัดระหว่างการตรวจสอบ 55 ราย เนื่องจากมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น มีการแก้ไขผลคะแนนและปลอมประกาศผลคะแนนของหน่วยงานกลาง(มหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบการสอบ) มีการแก้ไขผลคะแนนก่อนส่งให้ อปท. การดำเนินการสอบไม่เป็นไปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน และมีดำเนินการโดยบุคคลซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจ (มหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบการสอบแข่งขัน)

ต่อมาเมื่อปี 2560 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 โดยระบุเหตุแห่งการมีคำสั่งดังกล่าวว่า “โดยที่ในปัจจุบันปัญหาการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากมีการใช้ระบบอุปถัมภ์ในการสอบแข่งขัน รวมถึงมีการเรียกรับผลประโยชน์ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วนเพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรม และเกิดความเสียหายต่อระบบการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างร้ายแรง โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน โดยมีคณะกรมการกลางการสอบแข่งขัน (กสถ.) ที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

อธิบดี สถ. กล่าวต่อว่า จากกรณีดังกล่าวคณะกรรมการการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) จึงได้มีการดำเนินการสอบแข่งขันครั้งแรกภายใต้คำสั่ง คสช. ดังกล่าวเมื่อปี 2560 โดยมีผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งต่างๆ กว่า 30,000 คน ซึ่งการสอบครั้งนั้นสามารถป้องกันปัญหาการทุจริตได้ในทุกรูปแบบ สามารถสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นให้แก่หน่วยงาน อปท. และประชาชนทั่วไป

สำหรับในการดำเนินการสอบแข่งขันในปี 2562 นี้ คณะกรรมการการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ได้มีการประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 22 เมษายน 2562 โดยกำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 9 – 31 พฤษภาคม 2562 นั้น ในขณะนี้ ปรากฏว่า มีผู้แอบอ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ (ตกเบ็ด) จากผู้สมัครสอบเป็นจำนวนมาก โดยเสนอว่าสามารถช่วยผู้สมัครสอบ ให้สอบได้ โดยใช้วิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างว่ารู้จักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สามารถช่วยผู้สมัครสอบให้สอบได้ จะหาคนเข้าสอบแทนผู้สมัครสอบ มีข้อสอบที่ใช้ในการสอบ หรือสามารถส่งสัญญานโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ หรือช่วยผู้เข้าสอบในขณะสอบให้ทำข้อสอบได้ ฯลฯ

ซึ่งในการดำเนินการสอบของคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) มีนโยบาย และวัตถุประสงค์ ให้การสอบเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อให้ได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม อย่างแท้จริงมาปฏิบัติงานใน อปท. จึงได้กำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการออกข้อสอบ การคัดเลือกข้อสอบ การพิมพ์ข้อสอบ การจัดสถานที่สอบ การคุมสอบ และการตรวจข้อสอบ ฯลฯ ดังนั้น จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้สมัครสอบทราบโดยทั่วกันว่า

  1. การออกข้อสอบและการคัดเลือกข้อสอบ กสถ. ได้มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันการรั่วของข้อสอบ และมาตรฐานของข้อสอบ เช่น ข้อสอบแต่ละวิชาต้องใช้คณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขานั้นอย่างน้อย 3 ท่าน ในการออกข้อสอบ และการออกข้อสอบจะต้องมีอย่างน้อย 5 เท่าของจำนวนข้อที่ใช้ในการสอบ มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผลการศึกษาและคณบดีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือกข้อสอบที่เหมาะสม ส่วนการเก็บรักษาข้อสอบจะเก็บในห้องมั่นคง ซึ่งมีระบบการรักษาความปลอดภัยโดยมาตรการต่างๆ อย่างรัดกุมตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการออกข้อสอบและการคัดเลือกข้อสอบทั้งหมด ก็จะถูกเก็บตัวไว้จนกว่าการสอบแข่งขันจะแล้วเสร็จ
  2. กรณีมีผู้แอบอ้างว่าจะช่วยให้ผู้สมัครสอบเป็นผู้สอบได้ โดยใช้วิธีการต่างๆ ขอให้ผู้สมัครสอบอย่าได้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของผู้ที่แอบอ้างดังกล่าว และหากพบเห็นหรือทราบพฤติการณ์ที่จะมีการแอบอ้างดังกล่าว ขอให้แจ้งศูนย์ดำรงธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หมายเลขโทรศัพท์ 0-2241-9014 หรือ 02-241-9000 ต่อ 3331 หรือ 081-174-3785 หรือ 081-174-3688 หรือเว็บไซด์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น www.dla.go.th โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด และดำเนินการทางวินัย (กรณีเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น) ต่อผู้แอบอ้างนั้น
  3. กรณีผู้สมัครสอบใช้วิธีการใดๆ (วิ่งเต้น) ที่นอกเหนือจากการใช้ความรู้ ความสามารถของตนเองในการสอบ จะถือว่าผู้นั้นทุจริตในการสอบแข่งขัน ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้สมัครสอบผู้นั้นถูกปรับตกในการสอบครั้งนี้ และผู้สมัครสอบผู้นั้นจะไม่มีสิทธิสมัครสอบเข้ารับราชการใน อปท. อีก ไม่ว่าจะมีการรับสมัครสอบเมื่อใดก็ตาม
  4. กรณีผู้สมัครสอบถูกหลอกลวงหรือแอบอ้าง เพื่อเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบด้วยวิธีการต่างๆ นั้น ขอให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้แจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้แอบอ้างหรือหลอกลวง (ฐานฉ้อโกง) ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ทรัพย์สินหรือเงินที่เสียไปคืนมา ตลอดจนเพื่อไม่ให้ผู้สมัครสอบรายอื่นตกเป็นเหยื่อผู้แอบอ้างหรือหลอกลวง

“หากผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จะต้องรับโทษฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งจะถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ และหรือ ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด” อธิบดี สถ. กล่าว