สถ. เร่งพัฒนาศักยภาพครู เพื่อคุณภาพผู้เรียนในทุกมิติ ช่วงวัย มีวินัย รักษาศีลธรรม เป็นพลเมืองดีแห่งศตวรรษที่ 21

0
730

อธิบดี สถ. เปิดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูสู่การบูรณาการเรียนรู้ตามแนวทางของประเทศฟินแลนด์ ในสถานศึกษาสังกัด อปท. ประจำปี 2562

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2562) เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานเปิดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูสู่การบูรณาการเรียนรู้ตามแนวทางของประเทศฟินแลนด์ ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีนายอนันต์ ทรัพย์วารี ที่ปรึกษาด้านการศึกษาท้องถิ่น นายปิติภณ โพธิ์ใต้ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี ท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กว่า 240 คน จาก 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วม ณ โรงแรมโฆษะ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

อธิบดี สถ. กล่าวว่า ระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริงของโลก ต้องสร้างกระบวนการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดอย่างสร้างสรรค์ และสามารถนำแนวความคิดปรับเข้ากับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม ซึ่งกระแสความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในด้านต่าง ๆ ของโลก ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะเทคโนโลยี ที่ทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การศึกษาจึงเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ ครูจึงถือได้ว่าเป็นกลไกหลักทางการศึกษาที่จะเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ สร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีคุณภาพในการเป็นพลเมืองแห่งศตวรรษที่ 21 ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพครูเพื่อคุณภาพของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะ สร้างมาตรฐานในความเป็นวิชาชีพครู เพื่อมุ่งสู่การสร้างคุณภาพของผู้เรียนอย่างแท้จริง ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายในการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน และมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบสังคมและผู้อื่น อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม เป็นพลเมืองดี และมีทักษะที่จำเป็น

 

อธิบดี สถ. กล่าวต่อว่า ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศต้นแบบทางการศึกษาและวิจัย ที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ความสำเร็จดังกล่าวไม่เพียงปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) และผลการสำรวจการจัดการเรียนการสอนระดับนานาชาติ (TALIS) เท่านั้น หากยังสะท้อนออกมาในรูปแบบของความสุขในการสอนของครูและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพของผู้เรียน และจากผลการวิจัยเรื่อง “การกำหนดแนวทางการพัฒนาการศึกษาไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21” ของสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า กระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมของประเทศฟินแลนด์ กำหนดการจัดการเรียนการสอนของฟินแลนด์แบบไม่มีความตายตัว เปิดโอกาสให้ครูเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมแก่กลุ่มนักเรียนในความรับผิดชอบของตนอย่างอิสระ สามารถเลือกใช้ตำราได้อย่างหลากหลาย กล่าวคือ ครูเป็นผู้ออกแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างแท้จริง สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้และการเจริญเติบโตที่ดีของนักเรียน ทั้งในแง่ของกาย จิตใจ สังคม และสุขภาพ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพครู สู่การบูรณาการเรียนรู้ ตามแนวทางของประเทศฟินแลนด์ ไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในพื้นที่ 5 จังหวัด ของภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 12 – 16 มีนาคม 2561 ที่ จ.ชลบุรี และ ภาคเหนือจำนวน 7 จังหวัด เมื่อวันที่ 2 – 6 กันยายน 2561 ที่จังหวัดเชียงราย โดยเชิญครูชาวฟินแลนด์มาสาธิตการจัดการเรียนการสอนให้แก่ครู ในครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ 3 แล้ว

การจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้ ได้รับความสนใจจากครู สังกัด อปท. เป็นจำนวนมาก และทางผู้ดำเนินโครงการฯ ก็ยังได้มีการนิเทศติดตามผลการดำเนินกิจกรรมจัดการเรียนการสอนของครูที่เข้ารับการประชุมสัมมนาดังกล่าว และพบว่า ครูปฏิบัติการสอนที่เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูชาวฟินแลนด์ ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน มีการนำเทคนิค วิธีการจัดการเรียนการสอนของฟินแลนด์มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย สามารถสร้างความสนใจให้แก่นักเรียนได้มากขึ้น เพราะนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น ครูผู้สอนสามารถลดความเครียดจากการสอน เปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นผู้ฝึกสอน (Coach) หรือเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ ได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนมากขึ้น นักเรียนมีความสุข สนุกในการเรียน มีความกดดันต่อการเรียนน้อยลง กล้าคิดกล้าแสดงออก มีความสนใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนมากขึ้น มีระดับผลการเรียนตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถในระดับที่ดี และ กรมฯ ก็ได้เตรียมการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเป็นครั้งที่ 4 ต่อแล้ว เพื่อให้ครูในภาคใต้มีโอกาสได้รับความรู้ การสาธิตการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางของฟินแลนด์ ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2562 นี้

วันนี้ จึงนับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านได้มีโอกาสเข้าร่วม “โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูสู่การบูรณาการเรียนรู้ ตามแนวทางของประเทศฟินแลนด์ ในสถานศึกษาสังกัด อปท.” ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดขึ้นสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่าน ได้มีองค์ความรู้ทั้งในด้านทฤษฎี และการปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนของประเทศฟินแลนด์ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาสังกัด อปท. ต่อไป

กรมฯ มุ่งบูรณาการงานที่ว่าดีที่สุดสำหรับการพัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น เพื่อให้เด็กของท้องถิ่นได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพได้อย่างสูงสุด เช่น หลักสูตร UNICEF , PISCOR , สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และแนวทางการจัดการเรียนการสอนของประเทศฟินแลนด์ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาอย่างมีความสุข โดยทั้งหมดที่พยายามนำมาถ่ายทอดนั้นมีความเหมือนกันตรงที่ใช้เด็กเป็นศูนย์กลางและให้ผู้ปกครอง – เด็ก -ผู้บริหาร – และครู ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนด้วย ซึ่งจะเกิดความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคุณครูที่มาร่วมฝึกอบรมในวันนี้เป็นสำคัญ ว่าจะเปิดใจกว้างยอมรับและนำไปปฏิบัติเพียงใด เพื่อลูกหลานของเราทุกคนให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในการศึกษา ก็ต้องขอขอบคุณ ท่านนพพร อัจฉริยวนิช เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ , MR.Erkki Eerola นายกเทศมนตรีเมืองวีห์ติ (Vihti) ที่ได้มอบหมายให้ครูจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองวีห์ติ ประเทศฟินแลนด์ นั่นคือ Mrs.Saara Marvala , Mrs.Laura Sinnemaki และ Mrs.Pirjo Levaniemi มาเป็นวิทยากรสาธิตวิธีสอนหนังสือตามแนวทางของฟินแลนด์ในครั้งนี้ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อำนวยการสำนัก/กองการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพครูเพื่อคุณภาพของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้เด็กในท้องถิ่นไทยทั่วประเทศ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เติบโตเป็นอนาคตและทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติต่อไปได้อย่างสมบูรณ์