เครือข่ายด้านเด็ก-เยาวชน วอนคำนึงถึงสิทธิเด็ก ย้ำ 13 ชีวิตผู้ติดถ้ำคือ “ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ”

0
1212

เครือข่ายองค์กรด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว ออกแถลงการณ์กรณีเด็กและเยาวชน 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง  ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย  ลงวันที่  6  กรกฎาคม 2561 มีใจความโดยสรุปว่า ขอขอบคุณเจ้าหน้าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน คนไทยและชาวต่างชาติที่ส่งแรงกายและแรงใจค้นหาจนพบทั้ง 13 ชีวิต  อย่างไรก็ตามจากข่าวล่าสุดที่สร้างความสะเทือนใจให้คนไทยทั้งประเทศตามมาคือ การจากไปของ จ.อ.สมาน กุนัน อดีตหน่วยซีล ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเด็กๆ ออกจากถ้ำ เครือข่ายฯขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง  และขอให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสีย กับภารกิจในครั้งนี้

ท่ามกลางกระแสความคิดเห็นของผู้คน  โดยเฉพาะที่ผ่านสื่อออนไลน์ได้ถาโถมพุ่งเข้าใส่สถานการณ์นี้ทั้งที่เป็นบวกและลบ  ปรากฏข้อความทำนองตำหนิเด็กว่าเข้าไปทำไม เริ่มมีข้อวิจารณ์ว่าเด็กควรถูกลงโทษ  เนื่องจากได้สร้างปัญหาสร้างความเดือดร้อน  ที่น่าห่วงมากคือการเลยเถิดไปถึงขั้นกล่าวโทษเด็กๆ ในทำนองเป็นต้นเหตุนำมาซึ่งการเสียชีวิตของอดีตหน่วยซีลในวันนี้   ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก  เยาวชนและครอบครัว  ซึ่งในสถานการณ์นี้ เครือข่ายฯขอแสดงจุดยืนและมีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่าย ดังต่อไปนี้

1.การกระทำใดๆ ก็ตามต่อกรณีนี้ทั้งการช่วยเหลือ  เยียวยา การนำเสนอข่าวสาร ตลอดการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ต้องคำนึงถึงสิทธิ ที่เด็กพึงได้รับตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก เช่นสิทธิในการอยู่รอด ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัย เด็กจึงควรได้รับการประเมินผลกระทบทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ และต้องได้รับการเยียวยา เสริมพลังอย่างเหมาะสม  สิทธิส่วนตัวของเด็ก และครอบครัวต้องไม่ถูกละเมิดเด็กและเยาวชนทุกคนตลอดจนครอบครัว ควรต้องกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติโดยเร็ว ภายหลังการฟื้นฟูเยียวยาตามกระบวนการที่ถูกต้อง ทั้งนี้ รัฐ หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชน  ไม่ควรทำให้ชีวิตของเขาเหล่านี้ผิดไปจากปกติที่เขาดำเนินชีวิต

  1. ขอย้ำเตือนว่าทั้ง 13 คนคือ “ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ”ไม่ต่างจากกรณีอื่นๆ เลย (ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นกับเด็กหรือผู้ใหญ่) เด็กๆ จึงไม่ใช่จำเลยสังคม การออกแบบวิธีการอยู่รอด  การจัดการตัวเอง  ความสามัคคี อดทนอดกลั้นจนมีชีวิตรอดรวมถึงภาวะผู้นำของโค้ชซึ่งเป็นเยาวชนต่างหาก คือสิ่งที่ทุกฝ่ายควรชื่นชม  มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ต่อยอด  จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องยุติการตั้งคำถามหรือสร้างเงื่อนไขใดๆ ที่บ่งชี้การซ้ำเติม  สร้างปมภายในจิตใจของเด็กๆ และครอบครัว
  2. เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเยาวชนหลังจากที่เด็กกลับออกมา สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือขอให้ผู้รับผิดชอบสร้างพื้นที่หรือช่องทางให้ข้อมูลกลางออกมาเพียงจุดเดียว โดยสื่อมวลชนไม่ควรตามไปที่เด็ก เยาวชนและครอบครัว จำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กๆ ต้องเข้าสู่กระบวนการเยียวยาฟื้นฟู ได้รับการประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิตก่อน การสอบถามข้อมูลใดๆ ขอให้ผ่านนักสังคมฯนักจิตแพทย์หรือคนกลางเท่านั้น
  3. ในระหว่างการรอคอยการออกมาของทั้ง 13 ชีวิต เครือข่ายขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน รวมถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ ยุติความพยายามหาข้อมูลข่าวสารที่เกินความจำเป็น แม้เป็นเรื่องที่สังคมอยากรับรู้ตลอดเวลาก็ตาม  เพราะอีกด้านหนึ่งคือการกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่  ทำให้ขาดความเป็นอิสระ  และประชาชน สังคมผู้เสพข่าว ติดตามสถานการณ์ก็ควรเรียนรู้ที่จะอดทน  รอคอยรับทราบข้อมูลตามจังหวะเวลาซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดชี้แจงไว้
  4. ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องสรุปบทเรียนการประสบภัยธรรมชาติของทั้ง13ชีวิตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เป็น “จุดแข็ง” เป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคเพื่อเป็นบทเรียนต่อไป