อนุโมทนาบุญใหญ่ เจ้าภาพงานทิ้งกระจาดวัดไผ่ล้อม ปี 2566

0
151

อนุโมทนาบุญใหญ่ เจ้าภาพงานทิ้งกระจาดวัดไผ่ล้อม ปี 2566

              

เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน ก็ผ่านไปแล้วด้วยดีสำหรับงานบุญใหญ่ประจำปีของวัดไผ่ล้อม คือ งานทิ้งกระจาด ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาด ปีนี้ก็คลี่คลายลงจนสามารถกลับมาจัดได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

ปกติแล้วงานทิ้งกระจาดของวัดไผ่ล้อมก็ถือว่าจัดเป็นการใหญ่ทุกปี โดยแต่ละปีจะมีผู้มีจิตศรัทธารับเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพื่อจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ ข้าวสารอาหารแห้งสำหรับนำมาแจกทาน โดยที่การทิ้งกระจาดนั้น ผู้ที่ได้ร่วมงานก็ถือว่าได้ทำบุญสองต่อ เพราะต่อหนึ่งคืออุทิศให้แก่บรรพชน และบรรดาสัมภเวสีผีไร้ญาติที่ต้องการส่วนบุญส่วนกุศล อีกต่อหนึ่งคือได้แจกทานแก่ผู้ยากไร้ ได้ช่วยให้คนเหล่านั้นมีข้าวสารกรอกหม้อ สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ผู้ที่ได้ร่วมทำพิธีทิ้งกระจาดก็เรียกได้ว่า ได้ทำบุญใหญ่จริง ๆ

ในพิธีทิ้งกระจาดปีนี้ ก็มีผู้คนมารอรับทานกันเป็นจำนวนมาก คาดการณ์ด้วยสายตาก็น่าจะเกือบหลักหมื่นคน เพราะเต็มลานวัดไปหมด แม้ทางวัดจัดโดมหลังคาไว้เต็มลานวัดสำหรับผู้มารอรับทาน แต่ก็ดูจะไม่พอ บางคนมารอกันตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ตีสี่ พาลูกเล็กเด็กแดงเข้ามารอรับทาน ซึ่งจัดขึ้นในตอนบ่าย เรียกได้ว่าต้องรอนานพอสมควรเกือบจะข้ามวัน พอเวลาผ่านไปจนถึงใกล้เวลาทำพิธีก็เรียกได้ว่าแน่นโดมแน่นลานวัด แน่นขนัดไปหมด ต้องจัดเจ้าหน้าที่มาคอยอำนวยความสะดวกให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย จนสามารถแจกของแจกทานได้อย่างทั่วถึง ข้อนี้ทำให้เห็นเลยว่า แค่ข้าวสารอาหารแห้ง ของใช้เหล่านี้ บวกกับเงินอีกหนึ่งร้อยบาท แม้เป็นปริมาณไม่มากนักต่อคน แต่ก็นับว่ามีคุณค่ามากสำหรับพวกเขา เมื่อพวกเขานำกลับไปแล้วก็เป็นประโยชน์สำหรับการยังชีพ อาตมาเห็นแล้วก็ทั้งรู้สึกสงสาร และเข้าใจในความยากลำบาก ในฐานะที่ครั้งหนึ่งเมื่ออาตมายังเป็นเด็ก อาตมาก็เคยเป็นหนึ่งในผู้คนที่รอรับทานในงานทิ้งกระจาด ข้าวของที่ได้มาถือว่ามีค่ามากจริง ๆ จนถึงตอนนี้ที่อาตมามีโอกาสได้เป็นผู้ทำทาน อาตมาก็ตั้งใจจะให้ในสิ่งที่ดีที่สุด ตรงตามความต้องการที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด

การบุญนี้จะสำเร็จมิได้เลยหากขาดจิตศรัทธาของญาติโยมที่มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ทั้งรายใหญ่รายน้อย ร่วมกันเป็นกองบุญใหญ่ เช่น คุณโยมเบญจวรรณ ริทเทอร์ ผู้เป็นโยมน้องสาวบุญธรรมของอาตมาที่ร่วมบุญใหญ่กันมาตลอด คุณโยมสมชาติ สาลีพัฒนา หรือเฮียเงี๊ยบ แห่งร้านลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ เจ้าเก่าเจ้าดัง คุณโยมเติมศักดิ์ ปิติธนสารสมบัติ หรือเสี่ยดำ โปรโมเตอร์มวยชื่อดัง บริษัท ชุมสิน จำกัด และคณะสะพานบุญ ตลอดจนเจ้าภาพอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เอ่ยนาม ทุกคนทุกคณะล้วนมีส่วนสร้างบุญใหญ่นี้ด้วยกันทั้งหมด เหมือนขนดินขนอิฐขนหินมาก้อนใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ทุกก้อนสามารถประกอบรวมกันได้เป็นบ้านหลังใหญ่ โดยที่จะขาดก้อนใดไปไม่ได้เลย

พิธีทิ้งกระจาดนั้นเป็นพิธีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมสงเคราะห์คนอื่นในสังคม ได้แสดงความเมตตากรุณาต่อสรรพชีวิตและจิตวิญญาณ เพราะความเมตตากรุณานั้นเองที่ค้ำจุนโลก โลกของเราจะน่าอยู่ก็ด้วยเมตตาธรรม สังคมจะอยู่ได้เพราะผู้คนยังมีน้ำใจ ยังมีเมตตาต่อกัน น้ำฝนน้ำท่าแล้งก็ยังดีกว่าน้ำใจแล้ง ถ้าน้ำใจแล้งแล้วสังคมอยู่ไม่ได้

พระพุทธศาสนาของเราสอนให้ทุกคนมีเมตตากรุณาอยู่ในใจ พิธีทิ้งกระจาดนี้แม้จะเป็นประเพณีจีน แต่ก็เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนา มาจากคำสอนทางพุทธศาสนา และการที่ทางวัดได้จัดพิธีที่เบื้องหน้าองค์พระอวโลกิเตศวรกวนอิมพันมือมหาโพธิสัตว์เจ้า ก็ตรงตามที่มาของพิธีทิ้งกระจาดอันเป็นอุบายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่จะให้ชาวโลกได้ทำบุญ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือที่ในเมืองจีนนับถือในรูปแบบของเจ้าแม่กวนอิมนั้น คือพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา เมื่อเราไหว้เราบูชาเจ้าแม่กวนอิม ก็คือการน้อมนำเอาความเมตตากรุณาเข้ามาไว้ในดวงใจของเรา พระอวโลกิเตศวรคือผู้มองลงมายังโลก ท่านแปลคำนี้ไว้ดังนี้ หมายความว่าเราทุกคนควรจะมองดูโลกด้วยสายตาที่มีเมตตากรุณา และแสดงเมตตากรุณาแก่เพื่อนร่วมโลกตามกำลังและโอกาสที่สามารถทำได้ ไม่ใช่แค่การทิ้งกระจาดอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกโอกาสที่จะคิดดี ทำดี พูดดี ต่อผู้อื่น มีเมตตาไมตรีจิตแก่ผู้อื่น รักให้มาก เกลียดให้น้อย รักให้บริสุทธิ์ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีพระอวโลกิเตศวร หรือเจ้าแม่กวนอิมอยู่ในใจ

ความเมตตากรุณานั้นคือจุดตั้งต้นของความเป็นพุทธะในตัว มนุษย์ทุกคนมีธาตุพุทธะอยู่ในตัว พร้อมที่จะตื่น และเบิกบาน เพียงแต่ว่าเราต้องบำเพ็ญสิ่งต่าง ๆ ให้ถึงพร้อม ดุจการบำรุงสระน้ำ ดินเลนที่บัวกอหนึ่ง ๆ ขึ้นอยู่ เพื่อจะให้บัวเหล่านั้นได้บานเมื่อรับแสงแดด การมีเมตตากรุณาคือการบำรุงสระน้ำของเราให้สะอาด มีธาตุอาหารที่ดี พร้อมที่จะให้บัวในใจเรานั้นได้ชูช่อขึ้นมารับแสงแดด คือ การเข้าถึงปัญญา ถ้าบัวไม่โต ยังอยู่ใต้น้ำ ไม่ผุดขึ้นมาเหนือน้ำ มันก็บานไม่ได้ เราต้องทำให้บัวของเราโตขึ้นมาให้ได้เสียก่อน ต่อเมื่อรอดขึ้นมาเหนือน้ำแล้ว เมื่อนั้นบัวก็จะบาน เกิดพุทธะในใจของเราเอง เป็นบรมสุขอันไม่มีสิ่งใดเปรียบได้เลย

ขอให้ผู้อ่านทุกคน บำรุงสระน้ำในใจให้ดีพร้อม อย่าให้บัวในใจเราเฉา แต่จงเร่งให้บัวนั้นเติบโตขึ้น เพื่อรับแสงสว่างและเบ่งบานขึ้นในใจของเรา ขอเจริญพร

 

หลวงพี่น้ำฝน : 21 กันยายน 2566