รพ.ศิริราช ออกแถลงการณ์ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” หรือ “สมเด็จช่วง” มรณภาพแล้ว

0
413

ด้วยโรคไตวายเรื้อรัง สิริอายุ 96 ปี 76 พรรษา กำหนดเคลื่อนสรีระ 12 ธ.ค.64 ยกย่องเป็นพระเถระผู้ริเริ่มโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เผย “พระพุทธธรรมกายเทพมงคล”  มรดกธรรมชิ้นสุดท้าย

วันนี้ (9 ธ.ค.64) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ออกแถลงการณ์ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง สุดประเสริฐ) ได้มรณภาพอย่างสงบ  ณ ตึก 84 ปี ชั้น 6 (ตะวันตก)โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เวลา 05.48 น. จึงเรียนมาเพื่อให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปทราบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม(มส.) ประธานสมัชชามหาคณิสสร ประธานอำนวยการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยให้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้มรณภาพลงแล้วอย่างสงบ ด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่รพ.ศิริราช สิริอายุ 96 ปี 76 พรรษา หลังจากเข้ารับการรักษาที่ รพ.ศิริราช นาน 1 ปี 8 เดือน

พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กล่าวภายหลังการจัดประชุมเตรียมการพิธีศพ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ว่า ที่ประชุมมีมติจะเคลื่อนสรีระ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จากรพ.ศิริราช ในวันที่ 12 ธ.ค.64 เวลา 08.00น. มาที่ชั้น 2 พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จากนั้นจะเปิดให้คณะสงฆ์ คณะศิษย์ พุทธศาสนิกชน เข้าสรงน้ำจนถึงเวลา 16.00 น. และในเวลา 17.00 น. จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และจะมีพิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมในเวลา 17.00 น. ทุกวัน

นายสิปป์บวร แก้วงาม รองผอ.รักษาราชการ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับพิธีบำเพ็ญกุศลศพ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ตลอดไป

ด้านพระราชมังคลาจารย์ (พุ่ม อคฺคธมฺโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ เปิดเผยว่า ช่วงที่เข้าเยี่ยมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่รพ.ศิริราช เมื่อเร็วๆนี้ พยาบาลเคยถามท่านว่า มีห่วงอะไรไหม ท่านก็บอกว่า ไม่ห่วงอะไรแล้ว พอสร้าง “พระพุทธธรรมกายเทพมงคล” เสร็จก็ไม่ห่วงอะไรแล้ว ถือเป็นมรดกธรรมสุดท้ายที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สร้างไว้ให้กับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย สำหรับพระพุทธธรรมกายเทพมงคล เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ เกตุดอกบัวตูม ขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 40 เมตร สูง 69 เมตรเทียบเท่าตึก 20 ชั้น เริ่มสร้างเมื่อปี 2560 เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อจรรโลง เทิดทูน สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อบูชาพระคุณ “หลวงพ่อสด” วัดปากน้ำ แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับประวัติสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีนามเดิมว่า ช่วง สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2468 ที่บ้านเลขที่ 32 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของนายมิ่งและนางสำเภา สุดประเสริฐ ขณะที่มีอายุ 7 ขวบ นายมิ่ง บิดาถึงแก่กรรม ญาติจึงให้บรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟตามประเพณีพร้อมกับพี่ชาย หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว พี่ชายลาสิกขา แต่ยังคงเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากนั้น ชีวิตจึงเริ่มผูกพันกับวัดใกล้บ้าน คือ วัดสังฆราชา และวัดลาดกระบัง สำเร็จการศึกษาชั้น ป.4 ของรร.ประชาบาลวัดสังฆราชา พออายุ 14 ปี จึงบรรพชาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2482 ที่วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ

จากนั้น มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรม สอบนักธรรมชั้นตรี–โทได้ในสำนักศาสนศึกษาวัดสังฆราชา และได้ทราบกิตติคุณของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ เกิดความปรารถนาจะเข้ามาศึกษาต่อภายใต้บารมีธรรมของหลวงพ่อสด พ.ศ.2484 จึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากน้ำ โดยพระแจ่ม วัดสังฆราชา เป็นผู้นำมาฝากและได้เข้าอุปสมบท เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2488 ที่พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ มีพระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) วัดปากน้ำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ด้วยความขยันและตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจึงสอบได้มาโดยลำดับเมื่อถึงชั้นสูงหลวงพ่อสดนำไปฝากกับสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) เพื่อให้ศึกษาในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร พ.ศ.2497 หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค จึงไปรับตัวกลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำ เพื่อสานต่องานและโครงการที่ริเริ่มไว้ หลังการมรณภาพของหลวงพ่อสดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สร้างผลงานที่มีคุณูปการในหลากหลายด้านโดยเฉพาะงานด้านการสาธารณสงเคราะห์ เผยแผ่พระพุทธศาสนา และงานด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยให้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5 จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

ลำดับงานปกครองสงฆ์ พ.ศ.2500 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2508 เป็นเจ้าคณะภาค 3 พ.ศ.2517 เป็นเจ้าคณะภาค 17 พ.ศ.2528 เป็นเจ้าคณะภาค 7 พ.ศ.2532 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พ.ศ.‪2537 – 2558 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ พ.ศ.‪2547 – 2556  เป็น คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ.2556 เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ.2556 เป็นประธานสมัชชามหาคณิสสร พ.ศ.‪2557 – 2560 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  พ.ศ.2562 เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2499 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิโมลี พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที พ.ศ.2510 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวรเวที พ.ศ.2516 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวรเวที พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่พระธรรมปัญญาบดี พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์