มส.มีมติทราบข้อมูลบิดเบือนให้นักเรียนพุทธเรียนวิชาอิสลาม อาจกระทบความมั่นคง ให้พศ.แจ้งเจ้าคณะปกครอง-ผวจ.ทั่วประเทศ

0
893

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.62 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) เสด็จเป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ครั้งที่ 29/2562 ณ อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พุทธมณฑล จ.นครปฐม ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) รองโฆษกพศ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมส.ได้มีมติรับทราบเรื่อง การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตามที่ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ศธ. 04010/4211 ลงวันที่ 18 พ.ย.2562 กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักเรียนที่นับถือพระพุทธศาสนาต้องเรียนวิชาอิสลามศึกษา ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนไม่ถูกต้อง สร้างความสับสนและความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ก่อให้เกิดความแตกแยก และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาตินั้น สพฐ. ขอให้พศ. นำคำชี้แจงข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าวเสนอมส.เพื่อโปรดทราบ ดังนี้

1.สพฐ. ได้มีหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทุกเขต เพื่อสำรวจข้อมูลโรงเรียนที่เปิดสอนอิสลามศึกษา เป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรงบประมาณ โดยมิได้มีเจตนาให้ทุกโรงเรียนหรือนักเรียนต้องเรียนอิสลามศึกษาแต่อย่างใด  2. การจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2541 ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดการเรียนการสอนแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอื่นในลักษณะศาสนสัมพันธ์ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ในกรณีหลักสูตรอิสลามศึกษา ผู้เรียนได้เรียนรายวิชาพื้นฐาน (วิชาบังคับ) เช่นเดียวกับนักเรียนทั่วไป ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ยกเว้นสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ที่ได้ปรับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดเพื่อให้สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม ส่วนรายวิชาเพิ่มเติม (วิชาเลือก) สถานศึกษาทุกแห่งมีสาระที่จะเปิดสอนตามจุดเน้นของสถานศึกษา

3.กรณีหนังสือเรียนภาษาไทยที่มีภาพประกอบเป็นการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมของศาสนาอิสลาม สพฐ.ได้ศึกษาข้อมูลตามหลักวิชาการ งานวิจัย และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเป็นการนำเสนอเนื้อหาในหนังสือ ที่ได้เรียบเรียงขึ้นเพื่อให้น่าสนใจ และมีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ของประเทศโดยมุ่งเน้นถึง “วัฒนธรรมทางภาษา” ให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคม “พหุวัฒนธรรม” บนฐานความแตกต่างซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก ซึ่งในประเด็นนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล ดังที่ยูเนสโก (UNESCO) ได้ระบุและให้ความสำคัญกับเป้าหมายของพลเมืองที่เรียกว่า  “Living Values” ซึ่งหมายถึงคุณค่าที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากที่สุด โดยคุณค่าที่สำคัญคือการเคารพซึ่งกันและกัน

นายสิปป์บวร กล่าวว่า ศธ.มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ในสถานศึกษาหนึ่งๆ นั้นนักเรียนที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนามีจำนวนเท่าไร ถ้ามีจำนวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเขาก็จะเปิดสอนทางด้านจริยธรรมของศาสนานั้นๆ ให้กับนักเรียนเหล่านั้น เรื่องนี้นอกจากจะเป็นการสร้างศาสนสัมพันธ์แล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ชัดเจนเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพของทุกคน ดังนั้นศธ.จึงกำหนดไว้ชัดเจนถึงเรื่องนี้ จึงมีการเสนอต่อมส.เพื่อพิจารณามีมติทราบ จากนั้นก็จะมีการแจ้งถึงเจ้าคณะปกครองในทุกระดับเพื่อทำความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชนในกรณีที่ข้อมูลข่าวสารถูกบิดเบือนดังกล่าว

(ชมคลิป)

“เมื่อมส.มีมติรับทราบแล้ว ทางพศ.ก็จะมีหนังสือเวียนไปยังเจ้าคณะปกครองและเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ได้รับทราบเพื่อที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่มีข่าวที่บิดเบือนออกมาอันจะก่อความแตกแยกต่อสังคม ในฐานะที่สำนักพุทธมีหน้าที่เกี่ยวโยงก็ต้องทำหน้าที่โดยมิได้ปกป้องศาสนาหนึ่งศาสนาใด แต่ออกมาเพื่อทำความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนเพื่อความเข้าใจต่อข้อมูลที่ถูกต้อง”  รองโฆษกพศ. กล่าว