“พระเจ้าอยู่หัว” พระราชทานบำเพ็ญกุศล-เพลิงศพ พระธรรมมงคลเจดีย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ 26-30 เม.ย.61 ณ หน้าพระปรางค์วัดอรุณฯ

0
2242

พระธรรมเจดีย์

พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ในฐานะประธานคณะกรรมการถวายการรักษาพยาบาล พระธรรมมงคลเจดีย์ (เฉลียว ฐิตปุญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ เปิดเผยว่า ตามที่พระธรรมมคลเจดีย์ ได้มรณภาพลงด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 เวลา 13.00 น. ขณะสิริอายุ 92 ปี 72 พรรษานั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชนุเคราะห์บำเพ็ญกุศลออกพระเมรุพระราชทานเพลิงศพ วันที่ 26-30 เม.ย.2561 โดยวันที่ 26 เม.ย. เวลา 19.00 น. พระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม วันที่ 27 เม.ย. เวลา 15.00 น. เชิญโกศศพจากโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดอรุณฯ เวียนเมรุชั่วคราวหน้าวัดอรุณฯ แล้วตั้งบนจิตกาธาน วันที่ 28 เม.ย. เวลา 09.00 น. พิธีเจริญพุทธมหายาน จากนั้นช่วงบ่ายเป็นพิธีสาธยายพระสูตร ขมากรรมปกรณ์ ต่อด้วยพิธีโยคะเปรตพลี (หยู่ แค เอี่ยม เค่า) โปรยทาน ทิ้งกระจาด และในเวลา 21.00 น. จะมีการปิดมณฑลพิธีเผาเครื่องกระดาษอุทิศ ถวายไทยธรรมจตุปัจจัยกุศลพิธีทักษิณาทางกงเต็ก สัมฤทธิสมบูรณ์ วันที่ 29 เม.ย. เวลา 17.30 น. สมเด็พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชทานเพลิงศพ จากนั้นเวลา 19.00 น. การแสดงโขน โดยกรมศิลปากร และในวันที่ 30 เม.ย. เวลา 08.00 น. พิธีสามหาบ จากนั้นเชิญอัฐิตั้งบำเพ็ญกุศลที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดอรุณฯ ทั้งนี้การจัดสร้างเมรุจำลองนั้น จะมีการสร้างในรูปแบบศิลปะของจีนเนื่องจากพระธรรมมงคลเจดีย์ เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงศพ จะจัดขึ้น ณ ด้านหน้าวัดอรุณฯ ติดฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ประวัติสังเขป

พระธรรมมงคลเจดีย์ (เฉลียว ฐิตปุญฺโญ / ปัญจมะวัต) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เกิด เมื่อวันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ.2468 เป็นชาวจังหวัดปทุมธานี

อุปสมบท เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2488 ณ วัดบางนา อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มาจำพรรษา ณ วัดอรุณราชวราราม พ.ศ.2490 ย้ายมาจำพรรษาที่คณะ 4 วัดอรุณราชวราราม ต่อมาเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาณมหาเถร ครั้งเป็นพระเทพมุนี ) มาครองวัดอรุณราชวราราม จึงย้ายมาจำพรรษาที่คณะ 1

การศึกษา พ.ศ. 2494 ศึกษาพระปริยัติสอบได้นักธรรมชั้นเอก ณ สำนักเรียนวัดอรุณราชวราราม

ตำแหน่งการปกครอง

พ.ศ.2495 เป็นเจ้าคณะ 1 วัดอรุณราชวราราม และเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ. 2511 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม พ.ศ.2528 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม พ.ศ.2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2551 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม พ.ศ.2552 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม

เกียรติคุณ

พ.ศ. 2542 ได้รับปริญญาพุทธศาสนมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำหรับ พ.ศ. 2553 ได้รับปริญญาพุทธศาสนดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ความเกี่ยวข้อง กับ มจร

  1. ส่งเสริมพระภิกษุสามเณรในคณะ และในวัดให้ไดรับการศึกษาใน มจร 2. พ.ศ.2533 – 2551 เป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์แฟ้มและปากกาในงานสัมมนาพุทธศาสตรบัณฑิต มจร (โดยทำเป็นงบประมาณประจำปีของท่านเอง) และ ปี 2552-2558 อุปถัมภ์เป็นเงินในการสัมมนา พธ.บ. ๓. อุปถัมภ์ผาไตรในงานประสาทปริญญา มจร 2533-2560 ๔. อุปถัมภ์กระเป๋าและปากกางานโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 1-22 (2538-2558) โดยทำเป็นงบประมาณประจำปีของท่าน)

สมณศักดิ์

พ.ศ.2492 เป็นพระฐานานุกรมที่ พระครูใบฎีกา พ.ศ.2496 เป็นพระฐานานุกรมที่ พระครูธรรมธร พ.ศ.2497 เป็นพระฐานานุกรมที่ พระครูปลัดสุตวัฒน์ พ.ศ.2504 เป็นพระฐานานุกรมที่ พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ พ.ศ.2506 เป็นพระฐานานุกรมที่ พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ 5 ธันวาคม พ.ศ.2507 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระโสภณวราภรณ์ 5 ธันวาคม พ.ศ.2543 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุทธิโสภณ 5 ธันวาคม พ.ศ.2552 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพมงคลรังษี และ 5 ธันวาคม พ.ศ.2557 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมมงคลเจดีย์

ญาติพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวน ๑๐ คน คือ

  • นายสุชาต (แฉล้ม) ปัญจมะวัต
  • นายเฉลิม ปัญจมะวัต
  • พระธรรมมงคลเจดีย์ (เฉลียว ปัญจมะวัต)
  • พันตรี ไพโรจน์ ปัญจมะวัต
  • นายอร่าม ปัญจมะวัต
  • ด.ช. …….. ปัญจมะวัต (เสียชีวิตแต่เยาว์วัย ไม่สามารถจำชื่อได้)
  • นายประเทือง ปัญจมะวัต
  • นายอรรถกร ปัญจมะวัต
  • นางอำไพ เอี่ยมวิจารณ์ (สมรสกับ ร.อ. วิเชียร เอี่ยมวิจารณ์)
  • นาวาเอกพิเศษ พิชัย ปัญจมะวัต

นามสกุล ปัญจมวัต

เป็นนามสกุลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ พระราชทาน เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นนามสกุลลำดับที่ ๑๐๓๒ เขียนว่า ปัญจมวัต เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Panchamavat แต่ในในราชกิจจานุเบกษาเขียนว่า ปัญจมะวัต โดยมีนายร้อยโทชุ่ม อัยการศาลทหารมณฑลนครไชยศรี ผู้เป็นอา เป็นผู้ขอพระราชทาน และมีปู่นามว่า เหงา หรือ โหงว แปลว่า ห้า

การอาพาธ

ท่านเคยได้รับการผ่าตัดทำบอลลูนหัวใจที่โรงพยาบาลกรุงเทพมาก่อน ต่อมาเมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ท่านมีอาการเป็นไข้ แขนขาไม่มีแรง จึงได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ปิยมหาราชการุณย์ แต่ไม่ดีขึ้น มีเสมหะมาก และเสียงหายไป สื่อสารด้วยการเขียน จึงย้ายไปที่โรงพยาบาลกรุงเทพเมื่อเช้ามืดวันที่ ๒๗ มิถุนายน และรักษาอาการเรื่อยมา โดยออกมาพักที่กุฏิเป็นครั้งคราว วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ ได้ออกมาพักที่กุฏิวัดอรุณราชวราราม  วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ ได้เข้าพักที่โรงพยาบาลกรุงเทพ อีกรอบ  วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ ได้ออกมาพักที่กุฏิ วัดอรุณราชวราราม และประกอบพิธีตั้งเครื่องบูชาครูของท่าน เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ จากนั้นได้พักรักษาตัวที่กุฏิ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ ท่านมีอาการฟุ๊บ ขาไม่มีแรง และสลบไป / พยาบาล และศิษย์ได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และนำส่งโรงพยาบาลธนบุรี

โรงพยาบาลนำเข้าห้อง ICU หมอบอกว่า สมองขาดออกซิเจน และต่อมาหมอลงความเห็นว่า สมองไม่ทำงาน แต่หัวใจยังทำงานเองได้ จึงให้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเรื่อยมา ต่อมาวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ท่านมีความดันต่ำ จึงนำเข้าห้อง ICU และรักษาตัวเลื่อยมา จนวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. ได้มรณภาพลงด้วย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ สิริอายุ ๙๒ ปี ๗๒ พรรษา