ถอดบทเรียนค้ามนุษย์ “น้ำเพียงดิน” ขรก.ซื้อกามเด็กแม่ฮ่องสอน จัดหนักข้าราชการโทษ 320 ปี “ทิชา”อัดพฤติกรรมเลี้ยงดูปูเสื่อข้าราชการกังฉิน

0
1367

วันนี้(23เมษายน 2561) เวลา10.00 น. ที่โรงแรมเอบิน่าเฮ้าส์ ในเวทีเสวนา “ถอดบทเรียนค้ามนุษย์น้ำเพียงดิน มองถึงเทียร์ 2 (เฝ้าระวัง) ประเทศไทย” จัดโดย โครงการปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิพิทักษ์สตรี แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก  ทั้งนี้ภายในงานมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ “เธอผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” เพื่อให้กำลังใจผู้เสียหายที่ลุกขึ้นมาสู้

นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน  ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก  กล่าวว่า สืบเนื่องจาก18 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลอาญา รัชดา ตัดสินคดีค้ามนุษย์เด็กต่ำกว่า 18 ปี ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำเลยทั้งหมด 8 คน ด้วยโทษจำคุกตั้งแต่ 8 ปี ไปจนถึง 320 ปี เนื่องจากผู้ซื้อบริการทางเพศส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกือบทุกระดับ แทบทุกสังกัดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน  และเมื่อมีคำพิพากษานี้ออกมา เชื่อว่าน่าจะหยุดความฮึกเหิม เมามัน พฤติกรรมเลี้ยงดูปูเสื่อในหมู่ข้าราชการ และขบวนการค้ามนุษย์   โดยเฉพาะข้าราชการแตกแถวบางคนได้ในระดับหนึ่ง และน่าจะเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ถูกดำเนินคดี และได้รับโทษตามกฎหมายอย่างรุนแรงที่สุด

“ผ่านมากว่า 1  ปี กับปรากฏการณ์น้ำเพียงดิน จ.แม่ฮ่องสอน และคำตัดสินครั้งนี้ สะท้อนว่า ค่านิยมการเลี้ยงดูปูเสื่อมันแข็งแรงและตายไม่เป็น  คนทำงานสะเทือนใจไปกับเด็กหญิงที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะการเชื่อมโยงที่ทำให้สังคมรู้สึกว่าพวกเธอนำความเสียหายสู่จังหวัด แต่กลับไม่เห็นความผิดความเลวของผู้ใหญ่ที่กระทำ หรือมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำถึงอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในเมืองเล็กๆ มันน่ากลัวและเห็นอันตราย  เห็นถึงการพ่ายแพ้ของเด็กๆ  ปรากฏการณ์น้ำเพียงดิน ทำให้เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนหน้าที่การวางตำแหน่งตามกฎหมายให้เป็นอำนาจ เป็นอิทธิพล และเป็นแก๊งค้ามนุษย์ ประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้ชัดเจนขึ้น คือ การคุ้มครองพยานที่อาจจะไปไม่สุดทาง  หรือการให้น้ำหนักไปกับคดีความมั่นคง ทั้งที่คดีนี้เป็นคดีค้ามนุษย์  ที่สำคัญบาดแผลคดีค้ามนุษย์ต่างจากคดีความมั่นคง   และขอให้ทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้เด็กหญิงผู้เสียหายในคดีนี้ ที่ช่วยส่งคนผิดมารับโทษ พวกเธอคือส่วนสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในคดีค้ามนุษย์  ส่วนตัวยังเชื่อว่าความจริงจะค่อยๆ เผยหน้าในกลุ่มผู้ซื้อบริการที่มีอำนาจหน้าที่  ซึ่งต้องถูกลงโทษด้วยเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถือกฎหมาย  ผู้ที่มีอำนาจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามหน้าที่แต่กลับทำผิดเสียเอง”  นางทิชา กล่าว

พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ ทิปรีพอร์ต ประจำปี 2560 ปรากฏว่า สหรัฐยังคงจัดอันดับให้ไทยอยู่ในระดับ เทียร์  2 ที่ต้องจับตาเฝ้าระวัง หลังจากอยู่ที่ระดับ เทียร์ 3 เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งกฎหมายการค้ามนุษย์ของไทยบังคับใช้ตั้งแต่ปี 51 และไทยปรับตัวได้เร็วและปรับแก้กฎหมายจนมีความก้าวหน้าครอบคลุมไปมาก เมื่อเทียบกับปี 58-59 ยิ่งคดีที่แม่ฮ่องสอนยิ่งชัดเจนว่าบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และเจ้าหน้าที่รัฐ โทษหนัก 2 เท่า ปรากฏการณ์จำคุก 320 ปี นับเป็นครั้งแรกที่ไม่เคยมีมาก่อน  อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้มองข้อเท็จจริงว่าไทยมีสภาพเป็นเซ็นเตอร์ เป็นประเทศที่เป็นทางผ่าน และเป็นปลายทาง หากต้นทางไม่ช่วยเป็นหูเป็นตนเข้มงวดการค้ามนุษย์ก็ไม่เกิดผล อย่างไรก็ตามจากกรณีนี้ถือเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะการเข้ามาหนุนเสริมขององค์กรภาคประชาชนที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก  ในการทำให้ผู้เสียหายหนักแน่นและรักษาความจริงให้ปรากฏอย่างมีพลัง

ด้าน นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่า ปรากฏการณ์น้ำเพียงดิน ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานกับสังคม และยังให้คำตอบกับคนที่ไม่เข้าใจปัญหาการค้ามนุษย์ หยุดการเคยชินกับผู้ชายที่ออกนอกบ้านไปใช้บริการทางเพศอย่างชอบธรรม หยุดค่านิยมการยอมรับการขายบริการเป็นเรื่องปกติ และสิ่งที่ขมขื่นที่สุดคือ เราประณามหยามเหยียดผู้หญิงที่เป็นเหยื่อ สายตาสังคมมองเขาเป็นผู้หญิงไม่ดี ไม่มีพื้นที่ยืนในสังคม แต่สังคมกลับยอมรับความย้อนแย้งนี้ ขณะเดียวกันฝ่ายรักษากฎหมายเจ้าหน้าที่ก็ยังคุ้นชินกับเรื่องนี้  ไม่กระตือรือร้นในการช่วยเหลือเมื่อเหยื่อมาแจ้งความ

“เหยื่อที่ถูกเอาเปรียบทางเพศ กว่าที่เขาจะผ่านพ้นมาได้ น้องเขาต้องต่อสู้กับอำนาจอิทธิพล เผชิญกับแรงเสียดทาน การถูกตีตรา ถูกดูถูกกับคำถามที่ว่าสมควรจะได้รับการคุ้มครองแล้วหรือ การกล้าหาญออกมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ถูกถามซ้ำเรื่องเพศ ผลิตซ้ำความรุนแรง เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมและให้ได้รับการคุ้มครองมันไม่ใช่เรื่องง่าย  และคดีนี้ จะทำให้สังคมมองมุมใหม่ สร้างความชัดเจนขึ้น ทั้งนี้คนทำงานคงต้องติดตามคดีนี้ รอดูคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลอุธรณ์ต่อไป”  นางสาวนัยนากล่าว

ขณะที่นางสาวชลีรัตน์  แสงสุวรรณ ผู้ประสานงานมูลนิธิพิทักษ์สตรี  กล่าวว่า คดีนี้ ทางมูลนิธิฯได้แต่งตั้งทนายเป็นโจทก์ร่วมฟ้องด้วย ส่วนตัวมองว่าเส้นบางๆ ระหว่างปัญหาการค้ามนุษย์และการค้าประเวณี ระบบอำนาจมันตัดตอนคนที่มีอำนาจออกไป ทำให้ไปปรากฏแต่จำเลย ซึ่งการใช้เรือนร่างของเด็กเพื่อเสพความสุขทางเพศ โดยขาดความยั้งคิดถึงศีลธรรมอันดี จึงทำให้จำเลยในคดีนี้ได้รับบทลงโทษตามกฎหมายในที่สุด  และถือว่าไทยได้ทำงานแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับข้าราชการที่กระทำความผิด เพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง และถึงแม้ยังจะไม่สามารถโยงใยกับผู้ที่ทำผิดได้ทั้งหมด แต่เชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือบูรณาการ ทั้งดูแลคุ้มครองพยาน การดำเนินตามข้อเท็จจริง ผู้กระทำผิดตัวเล็ก ตัวใหญ่ คงถูกปราบปรามให้ยุติพฤติกรรมเลวร้ายแบบนี้ลงไปได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณในความกล้าหาญของทุกฝ่าย โดยเฉพาะพลังทางสังคมที่ไม่ยอมให้การใช้อำนาจในทางที่ผิด และจากนี้เราต้องไม่หยุดนิ่งไม่เพิกเฉย หากประชาชนมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โปรดแจ้งมูลนิธิมาได้ทันที  ในเคสนี้กระบวนการที่ถือเป็นความกล้าหาญของการคุ้มครองพยานคือการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่มีความเชี่ยวชาญ  เข้าไปทำกระบวนการเสริมพลัง (empowerment) ให้กับเด็กๆ ผู้เสียหายที่บอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ  ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก  มันเป็นงานที่มากไปกว่าการคุ้มครองเรื่องความปลอดภัย  อันนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่น่าชื่นชมยิ่ง