พระวัดไผ่ล้อม กับการบำเพ็ญประโยชน์ กิจของสงฆ์อย่างแท้จริง

0
486

พระวัดไผ่ล้อม กับการบำเพ็ญประโยชน์ กิจของสงฆ์อย่างแท้จริง

              

เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน กิจของสงฆ์คืออะไร

กิจของสงฆ์นั้นมีหลายประการ ถ้าเราอ้างอิงตามพุทธจริยา แห่งพระบรมศาสดาของเรา ก็ได้แก่การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อโลก การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อญาติ และการบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะพระพุทธเจ้า ถ้าเราใช้ข้อธรรมนี้อธิบายถึงพระสงฆ์สาวกแห่งพระพุทธเจ้าก็อาจอธิบายได้ดังนี้

การบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก เป็นการทำประโยชน์ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมโลก พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งแล้ว ก็ทรงนำความรู้แจ้งนี้มาบอกต่อ แนะนำให้ทำตาม เป็นการสร้างความสุข บำบัดความทุกข์ของชาวโลก พระสงฆ์ก็มีหน้าที่ดังนี้เช่นกัน

การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อญาติ พระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ญาติของพระองค์ พระภิกษุสงฆ์ที่ได้มาบวชก็ได้ชื่อว่าเป็นญาติกับพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่จะชักนำให้บรรดาญาติวงศ์ของตนมาใกล้ชิดพระศาสนา หากทำเช่นนี้ก็นับว่าเป็นจริยาดังกล่าว

การบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงมีหน้าที่กระทำให้สงฆ์เป็นปึกแผ่น ให้เป็นกองทัพพระธรรม นำความสุขสู่ปวงชน พระองค์จึงบัญญัติสิกขาบททั้งหลายไว้เป็นเครื่องมือควบคุมสังคมสงฆ์ เป็นเครื่องมือบริหารคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย ทรงส่งเสริมให้พระภิกษุออกไปจาริกเผยแผ่ธรรม อันนี้คือหน้าที่ของพระพุทธเจ้า สำหรับพระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไปก็คือหน้าที่ของพระสงฆ์ เราจะรู้จริยานี้ก็ด้วยคำถามแก่ใจตนเองว่า เราบวชทำไม เราบวชเพื่ออะไร เราควรจะทำอย่างไร คำตอบก็คือจริยาที่เราจะต้องปฏิบัติ

พระภิกษุสงฆ์แห่งวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม ก็นับว่าเดินตามจริยาทั้งสามนี้ ตอนเช้าตื่นมาตีห้าทำวัตรเช้า หกโมงเช้าออกบิณฑบาตเพื่อโปรดญาติโยมและเลี้ยงชีพของตน หลังจากนั้นก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมาย เช่น ให้บริการประชาชนที่มาเข้ารับการรักษาในส่วนหน้าของโรงพยาบาลนครปฐมซึ่งตั้งอยู่ที่วัดไผ่ล้อม กวาดวิหารลานวัด ดูแลช่วยเหลือผู้เข้ามาเยือนมาสักการะวัดไผ่ล้อม จนถึงตอนเย็นก็ทำวัตรเย็น ถือได้ว่าพระภิกษุสงฆ์วัดไผ่ล้อม ได้บำเพ็ญกิจของสงฆ์อย่างครบถ้วน ทั้งในฐานะสมาชิกของโลก ฐานะผู้เป็นญาติ และในฐานะที่ตนเองเป็นพระสงฆ์

กิจของสงฆ์บางอย่างนั้น อาจเป็นกิจที่ญาติโยมอาจไม่ค่อยคุ้นเคยสักเท่าไรถ้าไม่ใช่ชาววัด ใกล้ชิดกับวัด หรือเคยบวชเป็นพระมาก่อน คือ การฟังพระปาติโมกข์ มีกำหนดทุกกึ่งเดือน หรือทุกวันเดือนเพ็ญและวันเดือนดับ มีระยะห่างประมาณ 15 วัน พระปาติโมกข์ก็คือวินัยสงฆ์ 227 ข้อ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธบัญญัติให้พระสงฆ์มาประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เป็นการทบทวนพระวินัยในหมู่สงฆ์

สมัยก่อนยังไม่มีการจดจารึกพระวินัยไว้เป็นตัวอักษร การจดจำพระปาติโมกข์ทุกข้อจึงต้องใช้ความจำล้วน ๆ เมื่อขึ้นแสดงพระปาติโมกข์แก่หมู่สงฆ์ก็ต้องท่องออกมาจากปาก จากความจำของตนเองล้วน ๆ สมัยหลังมาแม้จะจดจารึกพระปาติโมกข์เหล่านั้นไว้เป็นตัวอักษรแล้ว แต่คณะสงฆ์ยังคงรักษาประเพณีสวดพระปาติโมกข์ปากเปล่า ด้วยถ้อยคำดั้งเดิม คือ ใช้ภาษามคธ (บาลี) มีคู่สวดหนึ่งรูปคอยตรวจทาน แล้วด้วยเหตุว่า พระธรรม คือตัวแทนของพระบรมศาสดา พระปาติโมกข์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของพระธรรม เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ผู้สวดพระปาติโมกข์จึงต้องนั่งบนอาสนะสูง และผู้ฟังพระปาติโมกข์ทุกรูปต้องสดับรับฟังอย่างตั้งใจ เสมือนว่าได้ฟังจากพระพุทธเจ้าเอง ในสมัยโบราณเวลาฟังพระปาติโมกข์ ท่านถึงกับต้องนั่งกระโหย่ง คือ นั่งยอง ๆ ฟังพระปาติโมกข์ เป็นท่านั่งที่ถือว่าให้ความเคารพสูงสุด จะเมื่อยจะอะไรก็ต้องทน เพราะสำหรับพระปาติโมกข์ คือกรอบชีวิตพระสงฆ์ คือพุทธบัญญัติ จำต้องสำรวมทั้งการฟัง และการนั่งฟัง

ผู้ที่สวดพระปาติโมกข์ได้นั้นก็ได้รับการยกย่องหลายสถาน ในการสวดพระปาติโมกข์นั้น ข้อหนึ่งคือเปรียบเสมือนผู้แทนของพระบรมศาสดา แสดงพระธรรมอันประหนึ่งพระบรมศาสดา เมื่อขึ้นอาสนะ สวดพระปาติโมกข์ ทุกรูปจะพรรษาเก่าใหม่ สมณศักดิ์สูงต่ำเพียงไร เมื่ออยู่ในอาณาบริเวณหัตถบาสที่ประชุมฟังพระปาติโมกข์แล้ว ต้องให้ความเคารพพระปาติโมกข์แม้ว่าจะออกมาจากปากของพระภิกษุพรรษาน้อย (แต่ท่องได้) และผู้ที่ท่องพระปาติโมกข์ได้นั้น ย่อมหมายถึงการเป็นพระภิกษุที่มีความเพียรอย่างมาก เพราะถ้าไม่มากก็คงไม่อาจท่องพระปาติโมกข์อันยาวเหยียดถึง 227 ข้อได้ด้วยปากเปล่า และด้วยความสำคัญของพระปาติโมกข์เสมอด้วยสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า ผู้ที่ท่องจะต้องท่องให้ได้อย่างถูกต้องทุกตัวอักษร คำใดออกเสียงอย่างไรตามหลักภาษามคธ ก็ต้องให้ถูกต้องตามนั้น จะท่องผิดท่องเพี้ยนไปไม่ได้ ตกหล่นก็ไม่ได้ ถือว่า เป็นอักขรวิบัติ อันมีผลทำให้สังฆกรรมนั้นไม่สมบูรณ์เลยทีเดียว

อานิสงส์แห่งความเพียรพยายามในการทรงจำพระปาติโมกข์นั้นมีมากประมาณ โบราณท่านว่าถึงกับฉุดพ่อแม่ที่ลงนรกอยู่ให้พ้นจากนรกได้ทีเดียว เรียกได้ว่า ถ้าลูกชายบวชแล้วพ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ แต่ถ้าสวดพระปาติโมกข์ได้นี่คือยิ่งกว่านั้น ฉุดขึ้นมาจากนรกได้เลย

เป็นที่น่ายินดีที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม มีผู้สามารถทรงจำและท่องพระปาติโมกข์ได้หลายรูป แสดงให้เห็นว่าวัดไผ่ล้อมแห่งนี้มีพระภิกษุผู้มีความเพียรชอบ รักษาพุทธประเพณีนี้ไว้ เพราะถ้าว่าตามตรงแล้ว ปัจจุบันพระปาติโมกข์ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และตีพิมพ์ หรืออัปโหลดลงในอินเทอร์เน็ต สามารถหาอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องมาล้อมวงกันฟังล้อมวงกันทบทวน แต่ที่ปฏิบัติกันสืบมานั้นก็นับเป็นพุทธประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่แรกเริ่มมีพุทธศาสนา และพุทธสาวก พระภิกษุสงฆ์ ก็ปฏิบัติสืบมามิให้สูญ เราใช้ภาษาบาลี เราสวดภาษาบาลี เราเรียนภาษาบาลี เพื่อรักษาถ้อยคำและความหมายให้ยังคงเดิมเสมอ ถ้าเข้าใจดีแล้ว เราก็สามารถแปลไปสู่ภาษาท้องถิ่นได้โดยไม่ยากเย็น

พูดถึงตรงนี้แล้ว ในบรรดาพระภิกษุสงฆ์วัดไผ่ล้อมที่ท่องพระปาติโมกข์ได้ ท่าน ๆ เหล่านี้ยังเป็นมหาเปรียญด้วย การเรียนพระธรรมเป็นกิจของสงฆ์อีกอย่างหนึ่ง แต่ก็จะมีส่วนที่พิเศษคือการเรียนและสอบเปรียญธรรม ซึ่งเป็นการเรียนภาษาบาลีไล่เป็นระดับจากพื้นฐานไปจนถึงสามารถแต่งฉันท์อะไรได้ มีระดับขั้น 9 ประโยค ตัวอาตมาเองนั้นไม่มีโอกาสได้เรียนเปรียญธรรม เพราะตั้งแต่บวชมา เรียนถึงนักธรรมเอก แล้วอาตมาก็ต้องติดตามทำงานให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูลมาโดยตลอดจนท่านละสังขาร แล้วอาตมาก็ต้องมาเป็นเจ้าอาวาสเลยในทันที แต่อาตมาก็เห็นความสำคัญของการศึกษาเปรียญธรรม และอยากให้พระในวัดไผ่ล้อมได้มีเปรียญธรรมกันมาก ๆ อาตมาก็ยินดีที่ได้พบว่าพระวัดไผ่ล้อมหลายรูปสามารถสอบเปรียญธรรมได้ มีความรู้ทางภาษาบาลี และพุทธศาสนา เป็นที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่พระภิกษุสงฆ์มีความรู้ภาษาบาลีเป็นอย่างดี ก็จะสามารถทำความเข้าใจกับพระบาลี คือ ข้อความหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาที่ถูกบันทึกไว้เป็นอย่างดี และได้โดยตรง และการเรียนภาษาบาลีนั้นไม่ใช่ของง่าย แม้คำไทยจะมีคำบาลีมาก แต่ที่ว่ายากคือไวยากรณ์บาลีที่ต่างจากภาษาไทย จะไปคล้ายภาษาทางฝรั่งยุโรปเสียมากกว่า คนที่เรียนได้ต้องอาศัยเวลา อาจารย์ที่ดีที่ชำนาญ และความเพียรพยายามอย่างแรงกล้าในการศึกษาเล่าเรียน เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ

อาตมาจึงขออนุโมทนาแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญในธรรม สามารถท่องพระปาติโมกข์ได้เหล่านั้น รวมถึงเป็นเปรียญธรรมทุกขั้น ผู้มีความเพียร และเป็นกำลังสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา และอนุโมทนาแก่พระสงฆ์ผู้ดำรงชอบตามกิจของสงฆ์ทุกประการ ขอเจริญพร

หลวงพี่น้ำฝน : 7 กันยายน 2566

*****************************************************************