“พงศ์พร” ตั้งกก.สืบแล้วเจอหลักฐานทุจริตเพิ่ม พร้อมส่งให้ปปป. ขณะที่นักวิชาการพระ เตือนรัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการเงินวัดอย่าใช้วิธีย่ำยี มองข้ามมหาเถรฯ

0
1433

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) บุกค้นบ้านอดีตผอ.พศ. และผู้บริหารระดับสูงของพศ. ซึ่งคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะปฏิสังขรณ์วัด กว่า 60 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ตนได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนที่ทาง บก.ปปป. ได้แจ้งผู้ต้องหามาทั้งหมด 4 คน ในจำนวนนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว 1 คน คือ อดีตผอ.พศ. ส่วนอีก 1 คนออกจากราชการไปแล้ว ที่เหลืออีก 2 คนยังอยู่ในระบบราชการ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูง แบ่งเป็นระดับ 9 จำนวน 1 คน และระดับ 8 จำนวน 1 คน และให้บุคคลทั้ง 4 ไปรับทราบข้อกล่าวหากับทาง บก.ปปป. ภายในวันที่ 16 มิ.ย.นั้น ทราบว่า มีผู้บริหารระดับ 8 เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ส่วนผู้บริหารระดับ 9 ยังไม่ได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งก็เป็นสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหา

พ.ต.ท.พงศ์พร กล่าวต่อไปว่า ส่วนจะมีการแจ้งความหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะเรียกทางพศ.มาเมื่อใด เนื่องจากทางพศ.ได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้แก่ บก.ปปป.แล้ว โดยล่าสุดพศ.ได้ส่งเอกสารการโอนเงินรายปีให้วัดที่เกี่ยวกับรูปคดีไปให้ บก.ปปป. เช่น สลิปการโอนเงิน ตารางการโอนเงิน เป็นต้น ทาง พศ.ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้งานของตำรวจเดินหน้าได้เร็วขนาดนี้ ถือว่าการให้หลักฐานเพิ่มเติมจะทำให้ตำรวจอาจจะทำให้พบหลักฐานการทุจริตเพิ่มขึ้น ที่จากเดิมมี 12 วัด ก็จะมีเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจำนวนต้องรอทางตำรวจสรุปออกมาให้ทางพศ.จึงยังไม่สามารถเปิดเผยจำนวนที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ในกระบวนการยังพบว่า มีพระภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น คงต้องรอให้ทางตำรวจแจ้งเรื่องกลับมา ทางพศ.ก็จะส่งเรื่องให้เจ้าคณะปกครองดำเนินการทางพระธรรมวินัย และตอนนี้มีหลายหน่วยงานได้ข้อมูลหลักฐานต่างๆ มายังพศ. ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

“กระบวนการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย จะมาว่ากันด้วยวินัยทางราชการอย่างเดียวไม่ได้ จึงต้องใช้กฎหมายอาญาเข้ามาดำเนินการ คือ ให้ทางฝ่ายบ้านเมืองดำเนินการ หากยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา และส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในวัดด้วย จากนี้ไปคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเริ่มเดินหน้า การตรวจสอบข้อเท็จจริงและกระบวนการตรวจสอบการทุจริตภายในพศ.แล้ว พร้อมทั้งผมจะมีคำสั่งถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด(พศจ.) เกี่ยวกับเรื่องความโปร่งใส ขณะเดียวกันการประชุมพระสังฆาธิการทุกระดับ ก็จะเน้นย้ำถึงเกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดินว่า เงินงบประมาณต้องรับไปแบบเต็มๆ ไม่มีเงินทอน ใครรู้ข่าวเรื่องการทอนเงินให้แจ้งเรื่องมายังผม” ผอ.พศ.กล่าว

พ.ต.ท.พงศ์พร กล่าวต่อไปว่า สำหรับที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเงินทอนว่า จะนำเงินส่วนไหนไปทอนให้แก่เจ้าหน้าที่ เพราะต้องผ่านบัญชีของวัดนั้น การโอนเงินงบประมาณแผ่นดินของพศ.ใช้ผ่านระบบบัญชีส่วนกลาง หรือพศจ. แต่ในส่วนงบประมาณที่โอนไปยังวัดนั้น ทางวัดจะเป็นผู้เบิก คือ เจ้าอาวาส ไวยาวัจกร กรรมการวัด เป็นผู้เบิก จากนั้นก็นำงบประมาณที่ได้รับอย่างเช่น 2 ล้านบาท ทางวัดก็ทอนกลับมาให้เจ้าหน้าที่ 1 ล้านบาท โดยใช้การจ่ายเป็นเงินสด ไม่มีหลักฐานการโอนเงิน โดยที่ทางพศ.ทราบเรื่องการทอนเงินจากพยานบุคคล ซึ่งหลักฐานที่ตำรวจจะใช้สืบสวนก็ คือ พยานบุคคล เอกสาร วัตถุ

ด้านพระเมธาวินัยรส รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.) กล่าวว่า เรื่องของทรัพย์สินวัดมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นของวัด ผู้ที่ดูแลเจ้าอาวาสร่วมกับคณะกรรมการ บางวัดมีสำนักงานดูแล อีกส่วนคือ ทรัพย์สินส่วนตัว เช่น นิตยภัต เป็นต้น เท่าที่ดูตามกระแสสังคมอยากให้มีการจัดระบบทรัพย์สิน และระบบบัญชีของวัด โดยมีการยกกรณีตัวอย่างสามเณรปลื้ม จึงอยากให้ทุกฝ่ายพูดเป็นประเด็นให้เกิดความเป็นธรรม เนื่องจากหลายฝ่ายพูดเหมือนว่าวัดไม่มีกติกา ไม่มีระบบการดำเนินการ ซึ่งความเป็นจริงในระเบียบคณะสงฆ์และพระธรรมวินัย มีระบุชัดถึงการจัดการทรัพย์สินของวัด และมีระบบบริหารที่ชัดเจน หากการเข้ามาของฝ่ายบ้านเมืองหากจะเข้ามาดูแลส่งเสริมจัดการระบบให้ดีขึ้น ช่วยพระสงฆ์ ช่วยวัด ก็เป็นเรื่องที่น่าฟัง แต่ท่าทีที่เข้ามาเหมือนจะเหยียบย่ำกัน ก็จะเกิดแรงต่อต้าน ไม่ใช่พระหรือวัดจะหวงไม่ให้เข้ามาดูแล แต่ไม่ชื่นชมท่าทีที่หลายหน่วยงานแสดงออกในขณะนี้

“แนวทางของพศ.ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างรัฐบาลกับคณะสงฆ์ เวลานี้สถานะเปลี่ยนไป ภาพลักษณ์ของพศ.ควรเป็นบุคคลสนับสนุนเป็นปากเสียงแทนคณะสงฆ์ กลับกลายมาเบียดเบียนวัด พระสงฆ์เสียเอง เป็นเรื่องที่บุคคลทำเสียหาย หากพูดถึงวัด ถึงพระศาสนา จะเป็นเรื่องของระบบไม่ใช่บุคคล เพราะวิธีการช่วยเหลือวัดต้องมีระบบที่ดีมา และต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องด้วย ขณะที่รัฐบาลต้องมีกลไกขอความร่วมมือกับทางวัด ไม่ใช่มองข้ามมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นประมุข ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการเหมือนเป็นการเหยียบย่ำระบบคณะสงฆ์ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เกิดความสงบ ทั้งที่จริงคณะสงฆ์ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่การทำงานของรัฐบาลเหมือนมองข้ามระบบเดิมที่มีอยู่ทั้งที่หลายส่วนดีอยู่แล้ว แต่ทำไมรัฐบาลมองข้ามและไม่ช่วยอุดช่องโหว่ที่มีปัญหา” รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมมร.กล่าว