ธรรมว่าด้วย “โทสะ” ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ก็มีแต่ความระทมทุกข์ตลอดไป

0
214

ธรรมว่าด้วย “โทสะ” ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ก็มีแต่ความระทมทุกข์ตลอดไป

              

เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน ในรอบครึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ คงไม่มีข่าวไหนที่เป็นที่ถูกกล่าวถึงได้มากเท่ากับข่าวฆาตกรรมตำรวจในงานเลี้ยง โดยมีกำนันมีชื่อคนหนึ่งตกเป็นผู้ต้องหาใหญ่ กลายเป็นข่าวที่ทั้งอึกทึกครึกโครม และกลายเป็นคดีอลเวงที่สังคมต่างจับตาอย่างใกล้ชิด ด้วยความอุกอาจของพฤติการณ์ชนิดว่าไม่เกรงกลัวอะไรเลย บาปกรรมก็ไม่กลัว กฎหมายก็ไม่กลัว

คดีดังกล่าวนี้ ใครจะเกี่ยว ใครผิดเท่าไหนอย่างไรเพราะอะไร อาตมาจะไม่ขอกล่าวถึง เพราะก็คงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองที่จะต้องไขความจริงแม้มือลั่นไกจะไม่อยู่แล้ว แต่อาตมาในฐานะพระที่อาศัยจำพรรษาอยู่ในท้องที่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุ และอาตมาเองก็พอจะรู้จักรุ่นพ่อของกำนันมีชื่อคนนั้น ก็มีความสะท้อนใจในสิ่งที่เกิดขึ้น

เท่าที่รู้ โดยไม่ต้องสืบสาวอะไรมาก คดีนี้เกิดขึ้นมาด้วยคำคำเดียว “โทสะ”

เกิดโทสะด้วยเรื่องแพ้ดวลอะไรสักอย่าง หรือว่าเรื่องผลประโยชน์ ตกลงอะไรเอย ตำแหน่งเอย อะไรก็ตาม อาตมาไม่รู้ แต่สุดท้ายมันทำให้กำนันสั่งให้ลูกน้องยิงตำรวจผู้นั้นจนเสียชีวิตกลางงาน และนั่นก็เกิดเป็นผลกระทบลูกโซ่ จนผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ต้องเสียชีวิตไปอีก ลามไปจนถึงความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัย ความกังวลใจในเรื่องผู้มีอิทธิพล สะเทือนขวัญและสะเทือนวงการอย่างแท้จริง

ในทางธรรม โทสะคืออะไร ตัวโทสะคือกิเลสตัวใหญ่มาก เป็นกิเลสตัวต้นเรื่องอย่างที่สุดหนึ่งในสามอย่างร่วมกับราคะ และโมหะ เพราะเป็นต้นตอของการกระทำชั่วต่าง ๆ ต้นตอของโทสะก็คือมานะ มานะที่ไม่ใช่ชื่อคนแต่หมายถึงความถือตัวถือตน ถือดี ถ้ามีอะไรมากระทบความถือดีนั้น มันโกรธ เกิดความยินร้าย นับเป็นกิเลสที่เห็นง่ายสุด เพราะพออะไรมากระทบตัวโทสะเข้า มันแสดงออกชัดเจนว่ามันโกรธ มันทำประทุษร้าย มันทำร้ายคนอื่นด้วยอำนาจของความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชัง ที่โกรธนั้นก็เพราะมีอะไรมากระตุ้นกระทบตัวกิเลสโทสะนั้นเอง กระทบความรู้สึกมีอำนาจของตนเอง กระทบความรู้สึกว่ายิ่งใหญ่ของตนเอง

ตราบเท่าที่เรายังเป็นปุถุชน ความโกรธนั้นก็ย่อมมี ด้วยตัวโทสะมันยังไม่หายไป บางคนพอกพูนจนหนา แต่บางคนก็เบาบาง ก็ทำให้คนแสดงความโกรธมาก หรือความโกรธน้อยแตกต่างกันออกไป แต่ปัญหาจริง ๆ คือ “ความไม่มีสติ”

เวลามันเกิดแรงโทสะขึ้น อาตมาไม่รู้หรอกว่ามันจะสะสมเรื่องราวอะไรมาเพียงใด แต่เมื่อถึงจุดที่มันจะระเบิดแล้ว มันพร้อมจะระเบิดเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ตลอดเมื่อมีสิ่งกระทบ เมื่อปราศจากสติรู้เท่าทันสถานการณ์ในใจตนเอง เราจะไปถึง “จุดระเบิด” อย่างไม่รู้ตัว ซึ่งบางคนก็อาจเป็นหลักวัน บางคนหลักชั่วโมง หรือบางคนเพียงแค่หลักไม่กี่วินาที อย่างหลังนี้แหละคือเวลาที่เกิดพฤติกรรมแบบบันดาลโทสะ

มนุษย์ต่างจากสัตว์ ตรงที่มนุษย์รู้จักการอดทนอดกลั้น ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เพราะมนุษย์รู้จักเรื่องของสติ การไม่มีสติหมายถึงการปล่อยให้พฤติกรรมของเราปล่อยไหลไปตามแรงกิเลสตามธรรมชาติ หรือปล่อยไปตาม “สันดาน” ของตน โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่แสดงออกไปนั้นจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม หรือผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร หรือแม้แต่ตนเอง ความเป็นมนุษย์มันอยู่ตรงนี้

คนเราจึงต้องมีสติกำกับในทุกอิริยาบถ และในทุกขณะจิต ให้รู้ว่าเราทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร โกรธก็รู้ว่าโกรธ อยากได้ก็รู้ว่าอยากได้ เกิดความรู้สึกอย่างไรก็รู้อย่างนั้นไปตรง ๆ แต่ว่าต้องหยุดแต่เพียงนั้น มิใช่ว่าจะปล่อยให้แรงกิเลสเหล่านี้มันทำงานต่อตามที่มันปรารถนา และการจะ “รู้” ได้ ต้องมีกำลังสติที่เพียงพอ หาไม่แล้วก็จะไล่จับตัวกิเลสที่เกิดขึ้นไม่ทัน ยิ่งมีกำลังสติมาก ก็ยิ่งจับได้ไล่ทัน ความฉุนเฉียวรุนแรงของพฤติกรรมก็จะลดลง อาจจะไม่เต็มร้อย แต่ก็จะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน จนไปถึงขั้นไม่ยินดียินร้ายได้ เพราะเมื่อรู้ เราก็หยุดได้

ความร้ายแรงของการแสดงพฤติกรรมจากแรงโทสะนั้น ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติว่าสายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันก็เกิดขึ้นเลย และจะแก้ไขย้อนกลับนั้นยากนัก อุปมาเหมือนของแตกหัก ของบางอย่างแตกแล้ว หักแล้ว ยังต่อได้ เชื่อมได้ แต่ของบางอย่าง แตกแล้วแตกเลย ไม่สามารถคืนกลับได้ และเราก็ต้องรับผลจากความแตกหักนั้น เมื่อทำสิ่งที่เป็นความผิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ชั่ววูบ หรือเป็นแรงโทสะที่ผ่านการเตรียมการอะไรมาแล้ว ผลของการกระทำก็ย่อมเกิดขึ้น และอาจต่อเนื่องบานปลายมากกว่าที่คิด ตั้งแต่ในใจของเรา ไปจนถึงผู้คนรอบ ๆ ตัวเรา

ฉะนั้น อย่าให้แรงโทสะมาทำให้เราเสียผู้เสียคน อย่าให้แรงโทสะเผาผลาญตัวเรา จนเราทุกข์ระทมตลอดไปเพียงแค่กรรมไม่กี่อย่างที่เกิดจากแรงโทสะ ขอเจริญพร  

 หลวงพี่น้ำฝน : 25 กันยายน 2566

*****************************************************************