ชุมชนคุณธรรม “วัดพรหมราช” สามัคคี-พอเพียง-รักท้องถิ่น

0
4304

ชุมชนคุณธรรม “วัดพรหมราช” สามัคคี-พอเพียง-รักท้องถิ่น

 

                 โครงการ “ชุมชนคุณธรรมน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหนึ่งในแผนงานของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยใช้พลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มาเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนทั่วประเทศทั้งด้านคุณธรรม ความพอเพียงและอนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น

เมื่อเร็วๆ นี้ นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัด วธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “ชุมชนคุณธรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงวัดพรหมราช” ต.ตูม อ.ปักธงชัย  จ.นครราชสีมา  โดยมีพระครูโกศลธรรมวิบูล เจ้าอาวาสวัดพรหมราช นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ นายอำเภอปักธงชัย นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้แทนหมู่บ้าน ตำบล และโรงเรียนให้การต้อนรับและนำเสนอชุมชนในครั้งนี้

ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ใช้หลักพระพุทธศาสนาในการส่งเสริมคุณธรรมให้แก่เด็กและเยาวชน   โดยมีพระครูโกศลธรรมวิบูล เจ้าอาวาสวัดพรหมราช เป็นพระผู้นำชุมชน คอยสอนหลักธรรมให้แก่ชาวบ้าน เพื่อส่งเสริมให้มีความประพฤติดี ทำดี มีคุณธรรมและจริยธรรม

นอกจากนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ทำนาและสวน ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย และยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ” มีความรัก ความสามัคคี ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังรักษาความเป็นไทยไว้อย่างเหนียวแน่นด้วยการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่คนรุ่นลูกหลาน ในเรื่องของอาหารไทย โดยทำพล่าหมี่แบบโบราณ สานตับหญ้าคาเพื่อมุงหลังคาบ้าน และสานชะลอมเพื่อใส่ขนมและของฝากสำหรับผู้มาเยือน

ชุมชนแห่งนี้มีประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันจัดขึ้นเป็นปีที่ 99 แล้วคือ ประเพณีการไหว้ “พระพุทธบาทจำลอง” ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นกลับมายังบ้านเกิด มาเยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นประจำทุกปี และได้จัดงานประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิม วิถีถิ่น วิถีไทย มีกิจกรรมรดน้ำขอพระผู้ใหญ่ สรงน้ำพระและการละเล่นพื้นบ้านโดยปราศจากแอลกอฮอล์และอบายมุขด้วย

นายธงชัย เชยสระน้อย  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านพรหมราช บอกว่า หมู่บ้านพรหมราชก่อตั้งมาพร้อมกับวัดพรหมราชที่มีความเก่าแก่กว่า 100 ปี ปัจจุบันมีประชากร 129 หลังคาเรือน ชาวบ้านกว่า 500 คน ซึ่งชุมชนแห่งนี้สามารถพัฒนาเป็นชุมชนคุณธรรมฯได้ เกิดจากการที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเป็นแกนนำหลักในการร่วมมือกับวัด ผู้นำชุมชนและหน่วยงานราชการ นำพาชาวบ้านและเด็กๆ พัฒนาวัด เข้าวัดฟังธรรมะเรียนรู้พระพุทธศาสนา  รวมถึงนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในชีวิต  อาทิ ปลูกผักสวนครัวไว้กินและขายในตลาดชุมชน ทำให้มีรายได้  อนุรักษ์ความเป็นไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้ อาทิ การแต่งกายแบบไทย ทำขนมโบราณ การละเล่นสมัยก่อน เช่น มอญซ่อนผ้า เล่นสะบ้า  รวมทั้งการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย อาทิ งานเทศกาลสงกรานต์ งานเข้าและออกพรรษา เป็นต้น

สอดคล้องกับ นายชัน พุดดอน วัย 60 ปี ชาวชุมชนพรหมราช ระบุว่า  ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพทำไร่นาสวนผสมและปลูกข้าว ก่อนหน้านี้ใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมของชุมชน แต่เมื่อพัฒนาเป็นชุมชนคุณธรรม ทุกคนต่างมารวมตัวกันช่วยงานวัด งานประเพณีต่างๆ และงานโรงเรียน จึงได้มาพบปะไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ ปรึกษาหารือเรื่องต่างๆ ในชุมชน มีการแลกเปลี่ยนพืชผลการเกษตร ของใช้ที่ผลิตได้เองระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังช่วยกันอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาของชุมชนสู่คนรุ่นหลังและเด็กๆ ในชุมชน  อาทิ  การสานตับหญ้าคา การสานสุ่มไก่ กระจาด ชะลอม และตะกร้อสอย ผลไม้  ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านมีความรักใคร่สามัคคีกันและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น

จากการลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมกับชาวบ้าน ปลัด วธ. บอกว่า ชุมชนวัดพรหมราชมีความโดดเด่นตรงที่มีการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมด้วยการใช้พลังบวรทั้งบ้าน วัด โรงเรียน รวมถึงอำเภอ ส่วนราชการต่างๆ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) สภาวัฒนธรรมในพื้นที่  ชุมชนและประชาชนต่างร่วมแรงร่วมใจกันในการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ศีลห้า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในชีวิต รวมทั้งการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลัง

ทำให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ปัญหาด้านอบายมุขและการกระทำผิดกฎหมายของชุมชนแห่งนี้ลดลงอย่างมาก นับเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า หากสังคมใด ชุมชนใดมีคุณธรรม อบายมุขและสิ่งไม่ดี ไม่งามทั้งหลายก็จะลดลงไป

                                                                                ณ. หนูแก้ว