ฉลองครบรอบ ๙๐ ปี สัมพันธไมตรีไทย-สวิส จัดแสดงดนตรีเสมือนจริง ๑๕ ธ.ค.นี้ อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๙ เชื่อมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม

0
258

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งผลักดันการใช้  “Soft Power” ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของไทยในสาขาต่างๆ เช่น ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งนโยบายวธ.ใช้มิติด้านวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ และนำภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากล  ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ ๙๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ วธ. ร่วมกับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น จัดกิจกรรมการแสดงดนตรีในรูปแบบเสมือนจริง “ดนตรีดลใจ ๙๐ ปี สัมพันธไมตรีไทย-สวิส – Inspired Melodies Celebrating  90 years of Thai-Swiss Relations” ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๙.๐๐ น. นักเรียน นักศึกษา และประชาชนสามารถรับชมผ่านทาง https://www.youtube.com/user/PGVIMChannel และทางเฟซบุ๊กของกระทรวงวัฒนธรรม https://th-th.facebook.com/ThaiMCulture/ รับชมออนไลน์พร้อมกันทั่วโลก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า “กิจกรรมการแสดงดนตรีดลใจ ๙๐ ปี สัมพันธไมตรีไทย-สวิส” ประกอบด้วยการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประพันธ์ขึ้น ณ สมาพันธรัฐสวิส จำนวน ๓ เพลง ได้แก่ Blue day, H.M. Blues และ Never Mind The Hungry Men’s Blues มานำเสนอ และบทเพลงจากละครเวทีเรื่อง “เวียงฟ้า”ประพันธ์โดยอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ศิลปินแห่งชาติที่ผสมเสียงประสานคลาสสิกตะวันตกและสำเนียงดนตรีไทยเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว โดยนำเครื่องดนตรีไทยมาบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีคลาสสิก อีกทั้งการเลียนเสียงของขิมและระนาดด้วยการเล่นฮาร์ซิคอร์ดและเปียโนฟอร์เต

นอกจากนี้ มีการแสดงการบรรเลงดนตรีกลุ่ม (Chamber music) โดยคณาจารย์และนักศึกษาของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา  ศิลปินรับเชิญทั้งชาวไทยและสวิสที่นำเสนอผลงานการประพันธ์ของคีตกวีทั้งสองชาติและการแสดงดนตรีที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ อาทิ บทเพลงโหมโรง วิลเลี่ยม เทลล์ ช่วงท้ายของโรสซินี (Rossini’s William Tell Overture – Finale) บทเพลงร้องจากอุปรากรเรื่อง “สาวเดินละเมอ” ของเบลลินี (Bellini’s Arias from La Sonnambula) บรรยายเรื่องราวและฉากที่สวยงามจากสวิสเซอร์แลนด์ บทเพลง “สวัสดีสวิสเซอร์แลนด์” ของคาร์ล บลูม (Carl Blum’s Gruss an die Schweiz) ที่ถูกค้นพบใหม่ รวมทั้งการแสดงดนตรีสี่ทำนองสวิสที่เรียบเรียงสำหรับวงเครื่องเป่าทองเหลืองห้าชิ้น การบรรเลงแตรภูเขาสวิสและการร้องโยเดิลร่วมกับการบรรเลงเครื่องดนตรีคลาสสิกด้วย ทั้งนี้ กิจกรรมการแสดงดนตรีนี้ เป็นความร่วมมือทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ระหว่างประเทศไทยและสมาพันธรัฐสวิส โดยนำเสนอศิลปวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองประเทศผ่านเสียงเพลงและดนตรี ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น