การแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ : สิ่งที่ชาวพุทธควรรู้ / ศิษย์วัดพระธรรมกายควรศึกษา

0
21088

ช่วงมีภารกิจเกี่ยวกับพระพรหมที่บ้าน ได้มีน้องๆ และเพื่อนๆ ได้ถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง การแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จึงได้บอกว่า ถ้าจะให้วิจารณ์คงไม่เหมาะ แต่ถ้าจะให้ความรู้ ในเรื่องหลักกฎหมายของพระ ที่เกี่ยวข้อง พอได้..

ดังนั้น จึงขอถือโอกาสนี้แสดงข้อความรู้ เพื่อให้พระและโยมได้เข้าใจ ตามความจริงของกฎหมายพระ.. เพราะเมื่อมีข่าวต่างๆ ออกมา ยังไม่มีการชี้แจงข้อจริง เพียงแต่วิจารณ์กันไป ตามความรู้สึก และความเข้าใจ ตามที่มีอยู่ ผิดบ้างถูกบ้าง .. ไม่ว่ากัน.. เพราะแต่ละคนต้องทำมาหากิน เพื่อปากท้องของตัวเองก่อน..

แต่พระสังฆาธิการผู้ปกครอง ที่มีหน้าที่ ท่านรู้อยู่แล้วว่า ต้องทำอะไร ? อย่างไร ?

ในที่นี้ ขอเรียนหลักการปฏิบัติ ของเจ้าคณะผู้ปกครอง โดยถือเอาวัดราษฎร์ คือ วัดทั่วๆ ไป เป็นหลัก.. ซึ่งรวมทั้งวัดพระธรรมกายด้วย.. เพราะมีอยู่ทั่วประเทศ จำเป็นต้องมีข้อกฎหมายประกอบบ้าง คงไม่ว่ากัน..

เราเป็นชาวพุทธ จะอยู่เฉยกันไม่ได้ “เพราะภัยของพระพุทธศาสนา ขณะนี้ ได้ถาโถมมา ทั้งจากภายในและภายนอก” (จะขอกล่าวต่างหาก)

——————————————-

๑. การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส

ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส มีดังนี้

เมื่อตำแหน่ง “เจ้าอาวาส” วัดใดวัดหนึ่งว่างลง.. จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม.. เจ้าคณะจังหวัด จะแต่งตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่ทันทีไม่ได้.. เจ้าคณะตำบล ที่ปกครองตำบลที่วัดนั้นตั้งอยู่ จะต้องแต่งตั้ง รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดนั้น ถ้ามีหลายรูป ให้พิจารณาตามลำดับตำแหน่ง แล้วตั้งรูปใดรูปหนึ่ง เป็นผู้รักษาการแทน หรือถ้าไม่มีรองและผู้ช่วยเจ้าอาวาส ให้แต่งตั้งภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นผู้รักษาการแทน

การแต่งตั้งผู้รักษาการแทน จะมีขอบเขตเวลาไม่เกิน ๑ ปี นับจากวันที่แต่งตั้ง..

หมายถึง ภายใน ๑ ปี จะต้องมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาส ยกเว้นพื้นที่กันดาร หาภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายไม่ได้..

ทำไมต้องแต่งตั้งผู้รักษาการแทน.. ที่วิเคราะห์ดูน่าจะเพื่อ..

๑. ให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของวัด ให้เรียบร้อย ก่อนมอบงานให้เจ้าอาวาสรูปใหม่

๒. เพื่อให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการ ผู้มีส่วนในการคัดเลือก และหรือแต่งตั้ง เจ้าอาวาสรูปต่อไป ได้ดูว่า “พอจะมีแวว สามารถปฏิบัติงาน ในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือไม่ (คือ ฝึกงาน ตามภาษาชาวบ้าน)”

เพราะปกติของคณะสงฆ์ ถ้ารักษาการเจ้าอาวาสปฏิบัติงานได้ เป็นไปตามหลักการของคณะสงฆ์ ก็มักจะแต่งตั้งรูปนั้นแหละเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อไป..

เมื่อรักษาการระยะหนึ่ง (ไม่เกิน ๑ ปี) จะมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่..

๒. ผู้เสนอแต่งตั้ง

ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ข้อ ๒๗ ประกอบด้วย เจ้าคณะผู้ปกครองที่วัดนั้นตั้งอยู่ (เรียกว่า เจ้าสังกัด) ดังนี้

๑) เจ้าคณะอำเภอ

๒) รองเจ้าคณะอำเภอ (ถ้ามี)

๓) เจ้าคณะตำบล

๔) รองเจ้าคณะตำบล (ถ้ามี)

รวมแล้ว ไม่น้อยกว่า ๓ รูป ร่วมกันพิจารณาคัดเลือก พระภิกษุผู้มีคุณสมบัติ ตามกฎฯ ๒๔ ข้อ ๖ และข้อ ๒๖  แล้วเจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัด เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง

คุณสมบัติข้อ ๖ เป็นคุณสมบัติทั่วไป ของพระภิกษุที่จะแต่งตั้งเป็นพระสังฆาธิการ (ตั้งแต่ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล ฯลฯ.. ขึ้นไป ตามลำดับ มี ๖ ข้อ ตามที่อ้างไว้ท้ายโพสต์)

ดังนั้น การแต่งตั้งรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐาน (ข้อ ๖) แล้ว จึงพิจารณาตามข้อ ๒๖ ได้เลย.. ดังนี้

ข้อ ๒๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

(๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ

(๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณ เป็นที่เคารพนับถือ ของบรรพชิตและคฤหัสถ์ ในถิ่นนั้น..

๓. เจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งตามที่เสนอ

ดังนั้น กรณีการแต่งตั้ง เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และวัดทั่วไป หากมีรองหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส จึงมีข้อ ๒๖ (๒) .. เป็นหลักในการตัดสิน..

เพราะอะไร.. ?

เพราะเจ้าอาวาสกับโยมรอบวัด รวมทั้งที่อื่นๆ จะต้องไปด้วยกันได้.. ไม่มีความขัดแย้งกัน เพื่อบำรุงวัดและพระสงฆ์ภายในวัด เพื่อความเจริญรุ่งเรือง ของพระพุทธศาสนา..

ดังนั้น เจ้าคณะผู้ปกครอง คือ เจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด.. จึงไม่มีทางที่จะละเว้น การปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคมได้.. แม้จะไม่ถูกใจใคร ก็ขอวิงวอนว่า อย่าไปบีบ /บังคับ ให้ท่านทำผิดกฎฯ เสียเอง.. เลย.. ท่านอาจโดนปลดได้ง่ายๆ.. จะเป็นโทษแก่ท่านเปล่าๆ..

คณะสงฆ์ไทยในประเทศไทยและต่างประเทศ ต้องมีกฎกติกาเฉพาะของท่าน โดยเฉพาะบ้าง ในหมู่คณะ เหมือนส่วนราชการ องค์กร หรือบริษัททั่วไป.. ทั้งนี้ ไม่รวมถึงต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และกฎหมายบ้านเมือง ที่จะต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว.. ท่านปฏิบัติตามกฎฯ จึงไม่มีปัญหาใดๆ ..

เท่านี้แหละครับ จบกระบวนการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์แล้ว

——————————

บทส่งท้าย..

กรณีวัดพระธรรมกาย มีการอ้างว่า เพื่อให้การจัดการบริหารวัด เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไร้ข้อครหา.. จึงแปลกใจว่า.. จากเดิมที่จะค้นวัด เพื่อจับตัวอดีตเจ้าอาวาส แล้วกลายเป็นการเสนอแต่งตั้งเจ้าอาวาส จากพระรูปอื่น หรือที่เรียกว่า “คนนอก หรือ คนกลาง”.. มันไม่ได้เข้ากฎมหาเถรสมาคมใดๆ .. สักข้อ ตามที่เสนอมา..

ถึงแม้ว่า จะมีการแก้ไข พรบ. คณะสงฆ์ใหม่ ไม่มีมหาเถรสมาคม.. จะมีอะไรก็ตาม พระท่านยังคงปฏิบัติ ตาม ปฏิปทาของพระมหาเถระ ที่บางรูป เป็นทั้งครูบาอาจารย์ และผู้ปกครอง ทั้งทางตรง และทางอ้อม.. การจะปฏิรูป /ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ พระท่านก็ยังคงปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้นอยู่ดี..

จะให้ตรงประเด็น คือ พระไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาคือคนต้องการให้พระมีปัญหา เพื่ออะไร ผมไม่ทราบ..?

เลยกลายเป็นประเด็นว่า จะจับพระ.. หรือจะยึดวัด.. แน่.. !

จะอ้างว่า เพื่อรักษาพระธรรมวินัย ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะผู้ที่ได้ ป.ธ.๙ และเปรียญชั้นอื่นๆ มีเกินครึ่งของวัด.. เรียนบาลีกับเพื่อนๆ พระเณร ที่อยู่ในวัดต่างๆ จากการพูดคุยกันกับเพื่อนชั้นเรียน จะซึมซับเข้าในจิตวิญญาณของผู้เรียนอยู่บ้าง เป็นกระบวนการ “สังคมประกิต (socialization)” ที่มีทุกวัน..

เครดิตนี้ ขอถวายอดีต พระพรหมโมลี วัดยานนาวา อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ที่เป็นผู้ริเริ่มให้ พระเณรวัดพระธรรมกายเรียนบาลี.. ในอนาคตต่อไป พระเณรเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามหลักการ

แนวโน้มการสอน และการปฏิบัติธรรม จะมีความก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง ขึ้นเรื่อยๆ.. คาดว่า คงเป็นเช่นนี้ โดยต้องอาศัยเวลา ในการเปลี่ยนผ่าน..

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า การบริหารจัดการวัดพระธรรมกาย เหมือนวัดโฝวกวงซันของมหายาน ที่มีการจัดการที่ดีเยี่ยม พอๆ กัน .. คนอื่นจะเห็นเป็นอย่างไร ผมไม่ทราบ..

ทำไมจึงกลายเป็นวัดที่มีปัญหา ในการบริหารจัดการ.. ! ผมก็ไม่ทราบ..?

—————————-

อ้างอิง..

กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ

ข้อ ๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งตามข้อ ๔ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังต่อไปนี้

(๑) มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง

(๒) มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง

(๓) มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย

(๔) เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์

(๕) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตราย จนเป็นที่น่ารังเกียจ

(๖) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษ ในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน

(๗) ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน

——————————

ข้อ ๒๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

(๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ

(๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น