กรมศิลปากรบูรณะพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

0
690

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานพิธีบวงสรวงงานบูรณะพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นางเสริมกิจ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการ และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธี

อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า พระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นอาคารสำคัญที่ใช้สำหรับประกอบพิธีสำคัญๆ ของเมืองนครศรีธรรมราช มาแต่โบราณ เช่น ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พิธีสมโภชพระบรมธาตุประจำปี และใช้ประกอบพิธีต่างๆ ทางศาสนา ปัจจุบันพระวิหารหลวงมีสภาพชำรุดทั้งส่วนโครงสร้างอาคาร รวมถึงเครื่องประกอบสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ซึ่งความชำรุดเหล่านี้ มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลาจากอายุของการก่อสร้างและภัยธรรมชาติ ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร จึงได้จัดทำโครงการบูรณะพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานอันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของชาติให้คงอยู่  ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๓๐,๐๐๐,๐๐๐.- บาท โดยจะทำการบูรณะในส่วนหลังคาอาคารเพื่อแก้ไขปัญหาการรั่วซึมซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระวิหารหลวงชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งซ่อมแซมอนุรักษ์เครื่องลำยอง (ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์) งานประณีตศิลป์หน้าบัน และงานเพดาน

สำหรับในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร ได้ขอตั้งงบประมาณต่อเนื่อง ในลักษณะงบอุดหนุนร่วมกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท งบประมาณกรมศิลปากร ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดำเนินการบูรณะพระวิหารหลวงในส่วนงานที่เหลือ ประกอบไปด้วย ผนังอาคาร พื้น งานศิลปกรรม และการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ เพื่อให้พระวิหารหลวงกลับมามีสภาพแข็งแรงเรียบร้อยสวยงามดังเดิม

พระวิหารหลวง หมายถึง วิหารหลังใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่งคือวิหารที่เป็นของกลาง เนื่องจากแต่เดิมวัดพระมหาธาตุเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา วิหารหลังนี้จึงเป็นของส่วนรวมที่ใช้ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ต่อมาจึงได้ แปลงเป็น “พระอุโบสถ” แต่ผู้คนยังนิยมเรียกพระวิหารหลวงอยู่เช่นเดิม ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พระวิหารหลวง สร้างโดยพระศรีมหาราชา เมื่อมหาศักราช ๑๕๕๐ (พ.ศ. ๒๑๗๑) ในสมัยแรกสร้างนั้นเป็นพระเจดีย์วิหารสูง ๗ วา และสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับวิหารธรรมศาลา สภาพปัจจุบันเป็นวิหารขนาด ๑๓ ห้อง ลักษณะแบบผนังรับน้ำหนัก ซึ่งเดิมน่าจะออกแบบสร้างเป็นอาคารจตุรมุข ส่วนลักษณะอาคารที่เป็นมุขประเจิด และส่วนฐานแอ่นโค้งก็กำหนดอายุได้ในช่วงอยุธยาตอนกลาง – ตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ -๒๓ ซึ่งสอดคล้องกับผลการขุดค้นทางโบราณคดี ที่มีการกำหนดอายุโบราณวัตถุ (อิฐฐานรากอาคาร) ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ค่าอายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๑