กรมศิลปากรจัดสร้าง “พระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร” พระคณาจารย์ ๑๐๘ รูป จารอักขระยันต์ลงแผ่นเงิน ทอง นาก ตะกั่ว

0
3978

วันนี้ (วันพุธที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๒) นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงและพิธีเททอง “พระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร” ณ สำนักช่างสิบหมู่ พุทธมณฑล ๕ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมี นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหาร อดีตผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และประชาชนร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

พิธีบวงสรวงเริ่มในเวลา ๑๐.๓๙ น. โดยพระครูสิทธิไชยบดี (พราหมณ์ ยศ โกมลเวทิน) พระครูพราหมณ์พราหมณ์พิธีจากโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า เวลา ๑๒.๓๙ น. พระเถรานุเถระนั่งปรก ๔ รูป ได้แก่ พระครูโกศลนวการ (หลวงพ่อปั่น กวิสฺสโร) วัดหนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พระครูสมบูรณ์จริยธรรม (หลวงพ่อแม้น) วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา พระครูอดุลวิริยกิจ (หลวงพ่อเอื้อน) วัดวังแดงใต้ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พระมหาเป็นหนึ่ง สุนทรเมธี ป.ธ.๙ วัดบรมวงษ์อิศรวราราม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

จากนั้นเวลา ๑๓.๒๙ น. อธิบดีกรมศิลปากร ประกอบพิธีเททอง “พระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร” ขนาดหน้าตัก ๖ นิ้ว จำนวน ๙ องค์นำฤกษ์ โดยมีพระญาณวิกรม (อุเทน สิริสาโร) เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ จ.สมุทรสาคร เป็นประธานสงฆ์ และพระสงฆ์ ๙ รูป เจริญชัยมงคลคาถา

 

พระพิฆเนศวร เป็นเทพเจ้าสำคัญในศาสนาฮินดู และเป็นที่รู้จักกันในนาม เทพแห่งศิลปวิทยา อันเป็นผู้ประสิทธิประสาทความรู้และความสำเร็จในการศึกษา และการสร้างสรรค์ศิลปกรรมทุกแขนง นอกจากนั้น ยังเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรคปัญหาทั้งปวง เป็นเทพที่สังคมไทยยอมรับนับถือมาเป็นเวลานาน และนิยมสร้างรูปเคารพไว้บูชา กรมศิลปากรได้นำรูปพระพิฆเนศวรล้อมรอบด้วยดวงแก้ว ๗ ดวง อันหมายถึง ศิลปวิทยา ๗ ประการ ได้แก่ ช่างปั้น จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ วาทศิลป์ สถาปัตยกรรม และอักษรศาสตร์ มาใช้เป็นตราประจำกรมศิลปากร ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๐ สะท้อนให้เห็นถึงภารกิจของกรมศิลปากร ในการคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างสรรค์ เผยแพร่ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๘ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ กรมศิลปากรจึงดำเนินการจัดสร้างพระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระสำคัญดังกล่าว โดยนำแบบที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย ได้ออกแบบไว้มาเป็นต้นแบบ ทั้งนี้ กำหนดจัดสร้างพระพิฆเนศวร แบบประทับนั่ง เนื้อบรอนซ์ ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว , เนื้อทองเหลือง ขนาดหน้าตัก ๖ นิ้ว , ๓ นิ้ว และ ๑ นิ้วครึ่ง นอกจากนี้ยังมีขนาดหน้าตัก ๑/๒ นิ้ว และเหรียญรูปไข่ ซึ่งมีทั้งเนื้อทองคำ เงิน และบรอนซ์

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในปี ๒๕๖๒ เป็นปีที่ครบการสถาปนากรมศิลปากร 108 ปี คณะผู้บริหารกรมศิลปากรเห็นว่าในโอกาส 108 ปีนี้น่าจะได้มีการจัดสร้างพระพิฆเนศวรซึ่งเป็นตราประจำกรมศิลปากร และพระพิฆเนศวรเป็นเทพแห่งปัญญา เทพแห่งศิลปะ เป็นเทพขจัดอุปสรรคจึงมีโครงการจัดสร้างขึ้นมา โดยเลือกดำเนินการตั้งแต่การนำเอารูปแบบที่เป็นต้นแบบของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ท่านจัดทำเอาไว้ ตนได้มอบให้ช่างของกรมศิลปากรโดยสำนักช่างสิบหมู่ตรวจดูให้สมบูรณ์แบบที่สุด จากนั้นก็ตามธรรมเนียมที่ต้องหาฤกษ์ในการทำพิธีเททอง ซึ่งในวันนี้ก็ได้จัดพิธีเททองโดยเริ่มจากพิธีบวงสรวง เป็นพิธีทั้งพราหมณ์ทั้งพุทธเพื่อเป็นฤกษ์เป็นมงคล ขจัดอุปสรรคต่างๆ ตามคติความเชื่อในฐานะที่เป็นคนไทยที่มีการเคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ

“วันนี้ถือเป็นฤกษ์ดีที่กรมศิลปากรได้จัดพิธีเททองหล่อองค์พระพิฆเนศวร ณ สำนักช่างสิบหมู่ซึ่งเป็นพื้นที่ของเราเอง โดยจัดสร้างในนามกรมศิลปากร และหลังเสร็จพิธีในวันนี้แล้วก็จะมีการเปิดให้ผู้สนใจและนับถือองค์พระพิฆเนศวรได้สั่งจอง โดยจะมีการจัดทำเอกสารแผ่นพับโบชัวร์เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสสั่งจอง โดยครั้งนี้ถือว่าเป็นวาระพิเศษอีกวาระหนึ่ง เราเรียกพระพิฆเนศวรรุ่นนี้ว่า รุ่นมงคล 108 ในวาระครบ 108 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร รายได้ทั้งหมดจะนำเข้ากองทุนพระพิฆเนศวรของกรมศิลปากรเพื่อนำดอกผลมาใช้ในด้านการอนุรักษ์มรดก ศิลปวัฒนธรรมในทุกแขนงต่อไป”  อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

นางพูนทิพย์  สร้อยสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มคลังและพัสดุ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มีภารกิจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์ และสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของชาติสาขาต่างๆ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้สร้างสรรค์ผลงานที่ต่อเนื่อง ฝากผลงานทั้งด้านศิลปะและวิทยาการเป็นที่ประจักษ์  ในพุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นวาระครบรอบ ๑๐๘ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร กรมศิลปากรจึงได้จัดสร้างพระพิฆเนศวรเนื่องในโอกาสครบรอบวาระดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑. เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๘ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร ๒. เพื่อนำรายได้จากการเช่าบูชานำเข้าสมทบ กองทุนโบราณคดี เพื่อการบูรณะโบราณสถาน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ พระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร เป็นการจัดสร้างจากต้นแบบพระพิฆเนศวรฝีมือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี  ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย และกรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายโสพิศ  พุทธรักษ์ ประติมากรชำนาญการ กลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ เป็นผู้ออกแบบและปั้นหล่อเป็นพระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปี โดยได้กราบนมัสการพระเกจิชื่อดังทั่วประเทศจาก ๑๐๘ วัดร่วมจารอักขระยันต์ลงแผ่นเงิน แผ่นทอง แผ่นนาก แผ่นตะกั่ว เพื่อเป็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์ และมีมวลสาร(พระกริ่ง) ที่ได้รับจากครูบา บุญชุ่ม ญาณสังวโร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์ เป็นมวลสารสำคัญในการจัดสร้าง โดยมีเจ้าอาวาสวัดท่าไม้ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ รวมทั้งได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติงดงาม ร่วมเป็นคณาจารย์นั่งปรก

 ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งจอง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายพัสดุ สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๒๒๑ ๔๔๔๓ และ ๐ ๒๒๒๕ ๔๕๓๔

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐