สางปม “ปทุมวัน-อุเทนถวาย” ร่วมใจสืบสานปณิธาณพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างความเชื่อใจ ลดความบาดหมาง

0
1879

 

ถือเป็นกลุ่มก่อการดี ที่ถากถางทางให้เพื่อนนักศึกษาทั้งของสองสถาบัน อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันได้ผนึกกำลังเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา ภายใต้แนวคิด ‘ปทุมวันอุเทนถวายร่วมใจ สืบสารปณิธาณพ่อหลวงรัชกาลที่ 9’ โดยกลุ่มนักศึกษาของทั้งสองสถาบันกว่า 50 คนได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และมูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยกันเป็นจิตอาสาถางหญ้า ทำทางเดินเข้าออกให้สะดวก และทำความสะอาดทั้งบริเวณอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรและศูนย์ฝึกอบรมที่ 3 อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี  เพื่อความสวยงามและพัฒนาให้ประชาชนได้มาใช้ประโยชน์ และออกกำลังกาย

หากติดตามข่าวที่สะท้อนผ่านหน้าสื่อถึงความบาดหมางของสองสถาบันที่มีอย่างต่อเนื่อง ย่อมตั้งคำถามถึงปรากฏการณ์ว่า  กิจกรรมนี้เอาสองมหาวิทยาลัยให้มาอยู่ร่วมกันได้อย่างไร และหากถอดสมการความขัดแย้งที่สั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่อง อะไรคือสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นเลือดร้อนทั้งสองที่มาอยู่ร่วมกันภายใต้กิจกรรมสร้างสรรค์ อาสาทำความดี ในรูปแบบจิตอาสา

อาจารย์วิชาญ ทองท่าฉาง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ไขกุกญแจปลดล็อคความขัดแย้งของนักศึกษาอย่างน่าสนใจ โดยปูพื้นสถานการณ์ปัญหาความไม่ลงรอยกันของสถาบันว่า การก่อเหตุครั้งล่าสุดคือ เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 และจนถึงขณะนี้ไม่มีการปะทะเกิดขึ้น เป็นห้วงบรรยากาศที่ลดความขัดแย้ง  ถึงแม้จะยังมีความหวาดระแวงกันอยู่ทั้งสองฝั่งก็ตาม แต่นี่คือสัญญาณที่ดีของการเคาะปัญหาที่สั่งสมมาอย่างช้านาน และสร้างความเชื่อมั่นว่าเดินมาถูกทาง เราใช้กิจกรรมเป็นสื่อกลางสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยกันหลายภาคส่วน จนนำมาสู่การผลักดันและสนับสนุนงบประมาณอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดรูปธรรม

อ.วิชาญ ระบุว่า แม้ปมปัญหาเด็กตีกันจะถูกหยิบยกมาแก้ไข  แต่ท้ายที่สุดก็สะดุดกับความไม่ต่อเนื่องของผู้บริหาร ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันไป หรือบางครั้งก็เดินกันคนละทาง ภายใต้ข้อจำกัดที่เปลี่ยนแปลงทุก 4 ปี แต่ล่าสุดเมื่อเราเดินหน้าสางปมปัญหาดังกล่าว จากการเสริมหนุนด้านงบประมาณที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่มีความตั้งใจจริง จึงทำให้เกิดกิจกรรมได้อย่างชัดเจน ในการนำเด็กนักศึกษาทั้งสองสถาบันมาเข้าร่วม

“แน่นอนว่า มันมีทั้งเด็กของทั้งสองสถาบัน ที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ภายใต้ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และสิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือ แรงต้านอันเกิดมาจากต้นตอสำคัญในโลกออนไลน์ ซึ่งมันส่งผลต่อการตัดสินใจของพวกเขาซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างเผ็ดร้อน  ตัดสินฟันธงแบบหยาบๆ  หรือตั้งคำถามไปแล้วได้อะไร”

แต่สุดท้าย เมื่อเด็กนักศึกษาทั้งสองสถาบันไปอยู่ด้วยกัน 2 วัน ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ควรจัดอีก นี้เป็นฟีดแบคจากเด็กๆ ที่เข้าร่วม ซึ่งเราในฐานะครูอาจารย์หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

อ.วิชาญ เล่าความรู้สึกพร้อมบรรยายภาพที่เห็นในวันแรกๆ ว่า  พวกเขาลดความหวาดระแวงต่อกัน เจอกันวันแรกเห็น อาจจะเกร็งๆ กัน แต่เมื่อได้อยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ก็มีพัฒนาการแห่งความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์อย่างเห็นได้ชัด ผมมองว่า ที่ผ่านมาพวกเขาไม่ได้เจอกัน หรือพูดคุยกัน จึงหวาดระแวง ไม่ไว้ใจ แค่มองหน้ากันเฉยๆ ก็หมั่นไส้ แต่เมื่อเราใช้กิจกรรมเข้ามาช่วยเป็นตัวกลาง มาหนุนเคลื่อนไหว สื่อสารพูดคุย มันก็จะนำไปสู่ปฎิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ได้กำลังใจจากครูอาจารย์ของทั้งสองฝั่งการศึกษา ที่เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างกัน ทำให้เด็กเชื่อมั่น ซึ่งครูอาจารย์เหล่านี้เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นอนาคตที่ดี  ไม่อยากให้มีภาพแบบเดิมหรือก้าวไปให้พ้นจากปัญหาเดิม

“เด็กสรุปกันเองว่าในระยะยาว จะต้องทำกิจกรรมต่อเนื่องและไม่ควรทิ้งระยะห่าง พวกเขามองไปถึงการจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น กีฬา หรือจับบัดดี้ระหว่างสถาบัน ตลอดจนควรหากิจกรรมที่ตรงกับความถนัดด้านวิชาชีพของแต่ละสถาบัน แล้วมาดำเนินกิจกรรมร่วมกันตามความถนัดและทักษะที่มี เช่นโครงการสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส” อาจารย์วิชาญ ระบุ

ด้าน อาจารย์วีนัส  ทัดเนียม รองอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน สะท้อนว่า เรื่องที่สองสถาบันไม่ลงรอยกัน หวาดระแวงกัน มันเป็นทุนเดิม และเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งทุกฝ่ายอยากหาทางออกให้ได้ แต่มันต้องใช้เวลา และกิจกรรมในครั้งนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี  ที่จะทำให้นักศึกษาปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนทัศนคติ เหมือนว่าเขาได้มีเวลาทบทวน จูนเข้าหากัน ให้เขาได้แสดงออกทางความคิดมากขึ้น และให้เขาได้รู้ว่าการเป็นพลเมือง ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎกติกา

“พอเขาได้มาพูดคุยกัน เราก็ชื่นใจที่ได้เห็นรอยยิ้ม เห็นเสียงหัวเราะของทั้งสองสถาบัน มันเกิดพื้นที่ด้านบวกมากขึ้น และนักศึกษาก็ดีใจที่ได้มาทำกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งมันควรมีเวทีแบบนี้บ่อยๆ รัฐเองควรเข้ามาสนับสนุนส่งเสริม ให้เด็กๆ ทำดีเพื่อสังคม และหลังจากนี้ เราจะมีการถอดบทเรียนของทั้ง 2 สถาบัน เพื่อให้เขาได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน หรือนำไปถ่ายทอดสู่รุ่นน้องได้” อาจารย์วีนัส สรุปทิ้งท้าย

ขณะที่ ร.ต.สิทธิศักดิ์ อาร์ชม นายกองค์การบริหารนักศึกษาจากอุเทนถวาย เปิดใจหลังเข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันว่า สองวันที่อยู่ด้วยกันเบื้องต้นคือเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง เรียนรู้ระหว่างกัน ทำให้รู้จักกันมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมแบบนี้ไม่มีในห้องเรียน พวกเราทั้งสองสถาบันอยากลบภาพนักเลงหัวไม้ ชกต่อยกัน เราอยากหาทางออกของปัญหาร่วมกัน และการเปลี่ยนแปลงมักเกิดจากกลุ่มคนจำนวนน้อยก่อนเสมอ ผมอยากให้ทั้งสองสถาบันหันหน้ามาพูดคุยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การหยุดใช้ความรุนแรง สร้างค่านิยมใหม่ในรุ่นของพวกเราและส่งต่อสิ่งดีงามสร้างสรรค์ให้กับรุ่นต่อไป

มาที่ฝั่งปทุมวัน อย่าง “วรวิทย์ ผุดผ่อง” นศ.ชั้นปีที่ 3  คณะวิศวกรรมศาสตร์ วันนี้เรามองข้ามเรื่องสถาบันออกไป เพราะสิ่งที่เราได้ทำร่วมกันเหน็ดเหนื่อยก็เพื่อระลึกถึงพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เดินตามรอยเท้าพ่อ ซึ่งพวกเราสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม และพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเราร่วมมือกันทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกันได้หากเรามีสิ่งยึดเหนี่ยวมองเป้าหมายเดียวกัน

“การพูดคุย พบปะกัน ทำให้ปัญหาลดลงได้แม้ทุกวันนี้สังคมมองว่าพวกเราก้าวร้าว ซึ่งพวกเราต้องใช้เวลาพิสูจน์ ขอให้เปิดใจมองพวกเราใหม่ว่า เราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้ ที่ผ่านมาอาจล้มคลุกคลาน ผิดไปบ้าง แต่อยากขอโอกาสจากสังคมให้พวกเราได้เริ่มต้นใหม่” วรวิทย์ ทิ้งท้าย