ศมส.ปลุกวัยโจ๋ต่อลมหายใจเพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด เพลงเรือ สืบทอดภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่กลับมาเห็นความสำคัญ

0
2918

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(ศมส.) (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับองค์กรเครือข่าย กองส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศูนย์สยามทรรศน์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ชมรมรักษ์เพลงพื้นบ้าน บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดกิจกรรม “ค่ายเพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน” (New Gen FS) และการประกวดเพลงพื้นบ้าน “กล้าพันธุ์เก่ง” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น เนื่องจากเห็นว่า เพลงพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาของชาติที่กำลังจะสูญหายที่ต้องการเด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบทอด

นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผอ. ศมส.  เล่าให้ฟังว่า การจัดค่ายเพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน ศมส. ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 แล้ว  เพราะเห็นว่า เพลงพื้นบ้านเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะและเป็นการแสดงพื้นบ้านที่สร้างสุนทรียศิลป์แก่สังคม แต่นับวันเพลงพื้นบ้านในฐานะที่เป็นภูมิปัญญาของชาติกำลังสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย สาเหตุสำคัญคือ เยาวชนไม่เล็งเห็นถึงคุณค่า ทำให้ขาดแคลนผู้ศึกษาและสืบทอด ปัจจุบันเพลงพื้นบ้านภาคกลางยังคงเหลือเพียงไม่กี่ชนิด เช่น เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด และเพลงเรือ  เหตุที่ยังมีลมหายใจอยู่ได้นั้น ส่วนหนึ่งเพราะการส่งเสริมสนับสนุนจากสังคมและจากกลุ่มชาวบ้าน เช่น ปราชญ์ท้องถิ่น ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ครูเพลงและผู้ถ่ายทอดต่างๆ แต่นับวันบุคคลเหล่านี้จะยิ่งลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย  หลายคนเสียชีวิตแล้ว เช่น แม่ประยูร ยมเยี่ยม และพ่อหวังเต๊ะ ที่ยังคงเหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ บางคนมีปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสืบสานเพลงพื้นบ้าน ส่งผลให้การสร้างสรรค์และการถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านชะงักงันขาดช่วง หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านแต่ก็มีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทั้งขาดความต่อเนื่อง ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ฯลฯ

 

ผอ.ศมส. ยังบอกอีกว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ศมส. ในฐานะหน่วยงานวิชาการที่มีพันธกิจในการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม จะต้องสร้างความเข้าใจและการอนุรักษ์สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง จึงจัดกิจกรรมทั้ง 2 ส่วนนี้ขึ้นที่หอประชุมศมส. เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนจากค่ายเพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน ได้แสดงความสามารถและถือเป็นการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายให้กลับมามีพลังอีกครั้ง

สำหรับการประกวดเพลงพื้นบ้านนี้ มีน้องๆ เยาวชนทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดพัทลุง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าประกวดเพลงพื้นบ้าน “กล้าพันธุ์เก่ง” โดยแบ่งออกเป็น 5 ทีม ทีมละ 4-5 คน มาจับฉลากเลือกว่าจะได้รับโจทย์ในการขับร้องเพลงพื้นบ้านภาคกลางประเภทใด อันได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว และเพลงเรือ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นความสามารถของเยาวชนในการใช้ภาษาไทยร้อยเรียงผ่านความคิดสร้างสรรค์ในการด้นเพลงพื้นบ้านขึ้นแสดงสดได้อย่างมีชั้นเชิง ซึ่งผลปรากฏว่า นายศุภชัย อิ่มทอง ชนะเลิศการประกวดเพลงพื้นบ้านชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “กล้าพันธุ์เก่ง”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ นายปรเมษฐ์ ศรีกำเหนิด และนายศิริศักดิ์ รอดสาลี                 รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 จำนวน  4 รางวัล ได้แก่ นายวุฒิชัย แจ่มกระจ่างจ่าง นายอดิศักดิ์ ราษสว่าง  นายธนธรณ์ รื่นรู้สาร และนางสาวเกศินี ชูช่วย

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3  จำนวน 9 รางวัล ได้แก่ นางสาวมัณฑนา ชุมพลปกรณ์ นางสาวเอื้ออารี ทองดอนอ่อน นางสาวกุลธิดา พลเขต นายพีระวัฒน์ คำมะณี นายวโรดม ดุสดี    นายคณิศร จำปาดี นางสาวสุภาวดี หงส์เวียงจันทร์ นายวรวุฒิ แก้วแกมพุทธ และนายอรรถพล สายขุนทด

รางวัลชมเชย จำนวน 12 รางวัล ได้แก่ นางสาวเงินตรา แนวโนนทัณ นางสาวนิธาวัลย์ ทองดี นางสาวณัฐพร ชูศรี นางสาวศิริพร คงแก้ว นายเดชาวัต มากแสง นางสาวแสงทิพย์ จันสมุทร นางสาวชญานิษฐ์ แก้วแหวนนางสาวธนัชพร แก้วแหวน เด็กหญิงฐาปนี ทัพชัย นางสาวชิญญานุช ยาทุมานนท์ เด็กหญิงพัชรพร พันสมุทร และนางสาวศิริวรรณ มากระจันทร์

ด้านนายนายศุภชัย อิ่มทอง ผู้ชนะเลิศด้นสดทำนองเพลงพื้นบ้าน จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า ขอขอบคุณครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการขับร้องเพลงพื้นบ้าน และการแต่งคำร้องเรื่องราว จากเด็กใหม่ที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการขับร้องเพลงพื้นบ้านเลย จนนำมาสู่ผู้ชนะการประกวดครั้งนี้ และขอบคุณมิตรสหายทุกคนที่อยู่ร่วมกันในค่ายเพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน ครั้งที่ 5 ตลอดระยะเวลา 1 อาทิตย์ ซึ่งได้เห็นพัฒนาการของทุกคนในการขับร้องเพลงพื้นบ้านร่วมกันที่สำคัญตนจะนำความรู้นี้ไปสืบทอดเพลงพื้นบ้านให้คงอยู่เป็นภูมิปัญหาที่สำคัญของชาติต่อไป

ขณะที่แม่ขวัญจิตต์ ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินกล่าวว่า ตอนแรกที่จัดค่ายขึ้นมีความกังวลถึงเรื่องเด็กใหม่ที่ไม่คุ้นกับครูเพลง และรุ่นพี่ เมื่อจัดการประกวดออกมาแสดงให้เห็นว่าน่าดีใจที่เด็กปรับตัวให้ทันรุ่นพี่ ทั้งการไปฝึกร้องเพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว ซึ่งการร้องนั้นไม่แตกต่างกันมากนัก แต่การแต่งเรื่องราวขึ้นมาใหม่เป็นการด้นสดๆแสดงถึงความสามารถของเด็กและเยาวชนของไทยมีต่อเพลงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก

นายเอนก นาวิกมูล  กล่าวว่า  เห็นคนรุ่นใหม่มีความสามารถคิดเพลง คิดเนื้อร้อง ที่คมคาย ทุกคนล้วนช่วยกันคิดช่วยกันร้อง และนำข่าวสารทางสังคมปัจจุบันเพิ่มเข้าไปทำให้เนื้อหาเพลงมีสีสันเป็นอย่างดี และหวังว่าจะมีเวทีอื่นๆ ให้เด็กเยาวชนได้แสดงเพลงพื้นบ้านกันมากขึ้น

ส่วนศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา  กล่าวว่า เห็นแววจะมีนักแสดงเด่นๆ หรือพ่อเพลง แม่เพลง พื้นบ้านในอนาคต เพราะวันนี้มีเยาวชนคนรุ่นใหม่สืบทอด ทั้งยังไม่ทิ้งขนบในการขึ้นต้นด้วยกลอนครูเป็นกลอนนำ นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มได้สร้างเรื่องใหม่ซึ่งในสังคมไทยยังขาดผู้เขียนบทใหม่ๆอยู่ ทำให้ในอนาคตไม่กังวลเรื่องนี้แล้ว เพราะทุกคนที่เข้าประกวดในวันนี้ทำให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้น

นายจิรศักดิ์  ก้อนพรหม  โปรดิวเซอร์รายการคุณพระช่วย บริษัท เวิร์คพ๊อยท์เอ็นเตอร์เทนเมน ได้กล่าวชื่นชมและแสดงความเห็นว่า การร้องเพลงพื้นบ้านไม่สามารถร้องคนเดียวได้ ต้องช่วยกันร้องเป็นกลุ่ม แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยที่มีการช่วยเหลือกัน การร้องผิดร้องถูกไม่ใช่เรื่องสำคัญในวันนี้

ขณะที่อาจารย์สุเทพ อ่อนสะอาด ครูเพลงผู้ร่วมให้ความรู้ในค่าย กล่าวเสริมว่า ปลาบปลื้มใจเพราะมีส่วนช่วยในการฝึกหัดเด็กใหม่ๆ ให้รู้จักการด้นเพลงพื้นบ้านได้มาถึงการประกวดวันนี้ถือว่าสุดยอดมาก การเล่นเป็นทีม การประคับประคองให้ทีมไปต่อได้เป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งเรื่องราวของกลุ่มที่แสดงเรื่องชายรักชาย กลายเป็นการล้ำไปในยุค Thailand 4.0 เป็นความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ในยุคนี้

 

ถึงแม้ว่ากิจกรรม “ค่ายเพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน” (New Gen FS) และการประกวดเพลงพื้นบ้าน“กล้าพันธุ์เก่ง” จะจบลงไปแล้ว แต่การสร้างคนรุ่นใหม่ต่อยอดเพลงพื้นบ้านเกิดขึ้น แม้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ก็เชื่อว่า การเริ่มต้นยังดีกว่าไม่ลงมือทำ อย่างน้อยก็ทำให้เด็กรุ่นใหม่กลุ่มนี้เห็นคุณค่าของเพลงพื้นบ้าน และใช้ความรู้ที่มีนั้นสืบทอดให้แก่คนรุ่นต่อไปได้อีก