มท.1 นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายแก่ผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ

0
330

หนุนระบบเทคโนโลยี GIS สู่ท่องเที่ยวชุมชน รูปแบบ New Normal ยกระดับมาตรฐานท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 15.30 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานการตรวจราชการและประชุมมอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัดภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพะเยา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมภูกามยาว ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพะเยา

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง การติดตามตรวจราชการในครั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้ทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือ มีการบูรณาการทำงาน ร่วมหารือรูปแบบ วิธีการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้ การแก้ไขปัญหาเเละเเนวทางการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการลงทะเบียนโครงการเราชนะ เพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน ส่งเสริมการลงทะเบียนร้านค้า เพื่อก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎี ใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ มาตรการป้องกันการลักลอบเข้าออกตามแนวชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ผอ.รมน.จังหวัด บูรณาการหน่วยงานด้านความมั่นคงรักษาความสงบเรียบร้อยและเข้มงวดในการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดน โดยกำหนดแผนปฏิบัติที่ชัดเจนพร้อมปรับแผนให้สอดคล้องสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพและกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด สำหรับพื้นที่ตอนใน ให้ประสานตำรวจภูธร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดและจุดคัดกรองในพื้นที่ และกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนร่วมกับประชาชน สอดส่องดูแลไม่ให้มีการลักลอบเข้าพื้นที่ โดยหากพบการกระทำผิดต้องดำเนินการสอบสวนและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ต้องมีการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น แรงงาน สาธารณสุข ฯลฯ เพื่อสั่งการให้มีการตรวจตรา ควบคุม และติดตามผลการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องด้วย และในส่วนของโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงไปในระดับพื้นที่ เช่น การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งประเด็นขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยท่านได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสถานะของครัวเรือนยากจน ในรูปแบบ coach center เราจะต้องมีการสร้างระบบพี่เลี้ยง ช่วยการขับเคลื่อนทุกครัวเรือนจนกว่าจะหลุดพ้นความยากจน สร้างการรับรู้กับประชาชนในการปฏิบัติงานของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวรายงาน ผลการดำเนินงานภารกิจกรมการพัฒนาชุมชน ในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้ โดยขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนในการทำงานขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”  ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานและพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพสกนิกร โดยพระองค์ได้ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความสุข ความหวัง ความรัก ความสามัคคี ที่เกิดขึ้นในครอบครัว กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจอย่างมาก คือ โครงการได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาดมี 25,000 กว่าครัวเรือน ใน 3,246 ตำบล ที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นเรื่องโชคดีที่กรมการพัฒนาชุมชนได้รับงบประมาณในปี 2563 งบปกติ กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนได้ 32 ศูนย์เรียนรู้ 1,500 ครัวเรือนต้นแบบและในงบประมาณปี 2564 งบปกติ ได้รับอนุมัติโดยประมาณ 14,000 ครัวเรือน งบเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้มาประมาณ 25,700 ครัวเรือน และได้งบเงินเดือนนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) 9,000 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีงาน มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้  รวมถึงกรมการพัฒนาชุมชนยังมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ชุมชน มุ่งเน้นการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ในการสวมใส่ผ้าไทย/ผ้าพื้นเมืองจากกลุ่มทอผ้าผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทย แก่ประชาชนทั่วประเทศ สืบเนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ถือว่ามาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เป็นนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทย ตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน อีกทั้งยังให้ทุกกระทรวงสร้างการรับรู้และความเข้าใจนโยบายแก่ส่วนในราชการในสังกัด รวมถึงจัดทำแผนงานในการรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง เพื่อสร้างค่านิยมและการตระหนัก รับรู้ รักษามรดก อัตลักษณ์ภูมิปัญญาของไทย และอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาพัฒนาผ้าไทยเพื่อเป็นสินค้าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

รวมถึงกรมการพัฒนาชุมชนน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ระยะที่ 2 สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือนโดยเน้นการพึ่งตนเอง ความสามัคคีของคนในชุมชน มีการสร้างรายได้และเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ทำให้ชุมชนมีวิถีพอเพียงเกื้อกูล ก่อให้เกิดการแบ่งปันกันขึ้นมา ซึ่งดำเนินการ kick off ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ถึง 15 พฤษภาคม 2564 เพื่อตระหนักในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ได้มีผักสวนครัวที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดีปลูกไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศชาติ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัด ภาคเหนือ ช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน โดยการปฏิบัติผู้นำต้องทำก่อน ให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติตาม ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ในครัวเรือน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการติดตามสอบถามความคืบหน้า เป็นผู้นำทำเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น Change for Good ในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงชุมชนพึ่งตนเองได้การขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืนโลก (SEP to SDGs)

นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนยังได้มีการใช้เทคโนโลยี เพื่อปลุกกระแสการท่องเที่ยวชุมชนในรูปแบบ New Normal ชวนท่องเที่ยว Tour From Home ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีไทย ผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) บนมือถือ ในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ด้วยการให้บริการท่องเที่ยวชุมชนจากบ้าน(community tour from home) สามารถสืบค้นข้อมูลก่อนเดินทาง พร้อมเพิ่มบริการชุมชนที่สนใจ ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งระบบจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ วีดีโอชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี, Guide Book, หมู่บ้านท่องเที่ยว, เชิญมาเที่ยวบ้านฉัน และ GIS ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีไทย ทั้ง 77 จังหวัด ระบบ GIS ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีไทย นอกจากจะแสดงพิกัดบนแผนที่ชุมชนท่องเที่ยว ยังสามารถดูได้ผ่านมือถือ ชอบบ้านไหนอยากแชร์ให้เพื่อนไปเที่ยวก็สามารถกดแชร์ไปยัง Facebook, Instagram, หรือ email

“นอกจากจะทราบข้อมูลท่องเที่ยวของชุมชนนั้นแล้ว ยังสามารถตรวจสอบระยะทางสำหรับเดินทางล่วงหน้า และเยี่ยมชม Facebook หรือ Youtube ชุมชน ก็สามารถกดลิงค์จากระบบ เรียกได้ว่า ได้เที่ยวชุมชนครบ จบในระบบเดียว ท่านจะได้รับความเพลิดเพลินจากการท่องเที่ยวและทราบข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการท่องเที่ยวนั้นๆ รวมถึงท่านยังสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมของชุมชนท่องเที่ยวที่สนใจได้อีกด้วย เเละขอขอบคุณที่ให้การสนับสนุน ในการเสริมสร้างองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูง เพื่อเข้าร่วมสมัครรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2564  ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือ” อธิบดีพช.กล่าว

ในโอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวให้กำลังใจเเละคำแนะนำกรมการพัฒนาชุมชนและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชนโดยใช้ข้อมูล จปฐ. และ TPMAP ชี้เป้าแหละผนึกกำลังกันแยกแยะปัญหาและช่วยเหลือประชาชน ให้ตรงกับปัญหา

ส่วนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ขอให้น้อมนำเอาการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ควบคู่กับตั้งข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่และปราชญ์ชุมชนเป็นพี่เลี้ยงดูแลประกบทุกครัวเรือน เพื่อช่วยให้ครัวเรือนเหล่านั้นเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่พี่น้องประชาชน อย่างแท้จริง