๑ มีนาคม ๒๕๖๑ มาฆบูชารำลึก @ เชิญมารื่นเริงในรสพระธรรมกันเถิด

0
3411

๑ มีนาคม ๒๕๖๑ มาฆบูชารำลึก @ เชิญมารื่นเริงในรสพระธรรมกันเถิด

แสดงธรรมโดย พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น

ในโอกาสที่วันมาฆบูชามหามงคลเวียนมาบรรจบครบ ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสิ้นสุดแห่งเหมันตฤดู ความสำคัญในวันนี้ คือ เป็นวันประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ที่เรียกว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งจักได้หยิบยกเอาพระคุณนามแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ามาสาธยายให้ท่านสาธุชนได้สดับ พอเป็นเครื่องรื่นเริงในธรรม

วันมาฆบูชา ถือเป็นวันกตัญญูแห่งชาติ เป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ ที่องค์พระอรหันตสาวกเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ล้วนทรงอภิญญา ๖ และเป็น เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา ทั้งมิได้นัดหมาย ต่างเดินทางมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อแสดงออกซึ่งความรักเทิดทูนและกตัญญู ต่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ หาใดเสมอเหมือนมิได้

เมื่อครั้งที่พระเทวทัตพยายามจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ด้วยการให้นายขมังธนูมาลอบยิงก็ไม่สำเร็จ จึงคิดอุบายปล่อยช้างนาฬาคีรีที่ถูกมอมเมาด้วยสุราจนเสียสติคุ้มคลั่ง วิ่งชูงวงส่งเสียงร้องคำรามด้วยท่าทีดุร้าย วิ่งตรงไปในทางที่พระพุทธองค์กำลังเสด็จมา

ขณะนั้นพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ซึ่งอยู่ในภูมิธรรมชั้นพระโสดาบัน ด้วยความรักในพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงกลับถลันไปยืนขวางหน้าพระยาช้างตัวดุร้ายนั้นไว้ มิได้มีความรักตัวกลัวตายอาลัยในชิวิตตัวเองแม้แต่น้อย ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากแม้พระยาช้างนี้ จักทำร้ายซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไซร้ ขอจงข้ามศพของเรา ผู้ชื่อว่า อานนท์ นี้ไปก่อนเถิด

แม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสห้ามว่า “อานนท์ อย่าเข้าไป อานนท์ จงหลีกไป นั่น ไม่ใช่ธุระของเธอ” แต่พระอานนท์ก็หายินยอมไม่ ซึ่งพระอานนท์นั้น ไม่เคยที่จะขัดพระบัญชาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก่อนเลย แต่ด้วยความรักในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างท่วมท้นหัวใจ พระอานนท์ถึงกับยอมขัดขืนพระบัญชา ด้วยตั้งใจมอบกายถวายชีวิตอย่างมิได้สะทกสะท้าน

 “ไม่ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะไม่หลีกไป หากช้างนี้จะทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไซร้ ขอให้ข้ามศพ ข้าผู้ชื่อว่า อานนท์ นี้ ไปก่อนเถิด” พระอานนท์กล่าววาจาด้วยอาจหาญ ในที่สุดพระพุทธองค์จำต้องทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ให้พระอานนท์ไปอยู่ด้านหลัง ในขณะที่ช้างนาฬาคีรี พุ่งมาสู่ที่เฉพาะพระพักตร์ พระพุทธองค์ทรงยืนสงบนิ่งแน่วแน่ แผ่กระแสแห่งพระเมตตา ออกจากดวงหฤทัยอันบริสุทธิ์ พุ่งไปยังพระยาช้างผู้คุ้มคลั่ง

ด้วยน้ำพระทัยอันใสบริสุทธิ์นั้น ได้ชำแรกเข้าสู่ดวงจิตของพระยาช้าง ทำให้ฤทธิ์สุรามึนเมาได้จางหายไป พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระยาช้างด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะนุ่มนวล “นาฬาคีรี เธอจงมีสติคืนมาเถิด” พระยาช้าง พลันสะดุ้งสะท้านเฮือก สติ สัมปชัญญะกลับคืนมา ค่อย ๆ หมอบกราบลงแทบพระบาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า สายตาจับจ้องที่พระพักตร์อันมีพระสิริวิลาศที่งามล้ำ น้ำตาหลั่งไหลหยาดหยด ด้วยความสำนึกซาบซึ้งในพระคุณอันหาประมาณมิได้ หากว่าช้างนี้ได้ทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วไซร้ ความปรารถนาในพระโพธิญาณที่เป็นบารมีสั่งสมมานาน ก็เป็นอันต้องอันตรธานหายวับไปในทันที

พระอานนท์ที่สังเกตการณ์อยู่เบื้องหลังนั้น ได้เห็นเป็นอัศจรรย์ในพระพุทธานุภาพที่หาใดเสมอเหมือนมิได้ ถึงกับเอ่ยปากอุทานว่า “พระพุทธานุภาพนี้ ช่างอัศจรรย์หนอ ๆ ๆ” อยู่ไม่ขาดปาก ฝ่ายพระเทวทัตที่เฝ้าดูอยู่แต่ไกลนั้นเล่า เมื่อเห็นเหตุการณ์กลับผิดคาดไปดังนั้น ก็ถึงแก่อาเจียนเป็นโลหิต พลันสำนึกได้ว่า แม้ธนูไม่มีชีวิต ยังรู้จักพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระยาช้างตัวดุร้ายตกมัน ก็ยังรู้จักพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราเป็นคนแท้ ๆ ไฉนจึงไม่รู้ในพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันประเสริฐ ครานั้น พระเทวทัตก็ถึงกับสิ้นสติสมฤดีด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง

ดูเอาเถิด! แม้พระอานนท์ ผู้เป็นพระโสดาบัน ยังมีความรักตัวเอง มิได้เทียบเท่ากับความรักในพระบรมศาสดาเลย แล้วบรรดาพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ล้วนทรงอภิญญา ๖ ท่านเหล่านั้น ล้วนเป็น เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา คือเป็นพุทธเวไนย ผู้ที่อันพระพุทธเจ้าเท่านั้นจักพึงบวชให้ได้ และสำเร็จการบวชด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า “เอหิ ภิกขุ” แปลว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ปรากฏโดยชอบเถิด”

การที่พระพุทธองค์จะทรงประทาน “เอหิ ภิกขุ” แก่ผู้ใด หมายความว่า ผู้นั้นจักต้องสร้างบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว และเคยให้ทานผ้าจีวรในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เมื่อเป็นภิกษุแล้ว จึงมีจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์มาสวมกายในทันที สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แม้บวชใหม่ แต่มีศีลาจารวัตรอันหมดจดงดงาม มีสติสำรวมปานพระเถระมีพรรษาตั้ง ๑๐๐ ด้วยประการฉะนี้

พระอรหันต์ทั้งนั้น ๑,๒๕๐ รูป ล้วนทรงอภิญญา ๖ เมื่อดิถีแห่งมาฆบุรณมีมาถึงแล้ว ต่างองค์ต่างมีจิตคิดใคร่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยความรักและเทิดทูน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาคุณ แม้พระอานนท์ผู้เป็นพระโสดาบัน ยังมีความรักในพระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นปานนั้น จะกล่าวไปใยถึงพระอรหันต์ขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย จะมิยิ่งมีความรักเทิดทูนในพระบรมศาสดายิ่งไปกว่าพระอานนท์อีกมากมาย

เมื่อต่างองค์ต่างเดินทางมาถึงพระเวฬุวันมหาวิหารในเวลาตะวันบ่าย ก็จึงเข้าสู่ในที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาต นั่งสงบนิ่งเงียบอย่างสำรวม มิได้มีเสียงพูดคุย สนทนาปราศรัยใด ๆ เป็นสังฆโสภณา คือความงดงามพรั่งพร้อมแห่งสงฆ์ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่ที่ประชุม และประทับนั่งบนธรรมาสน์ในท่ามกลางสงฆ์แล้ว แม้จะมีภิกษุสงฆ์ประชุมกันอยู่ถึง ๑,๒๕๐ รูป แต่ในที่ประชุมนั้น นอกจากเสียงธรรมชาติแล้ว กลับมิได้มีเสียงใด ๆ ปรากฏ ยังคงสภาพสงบเงียบสงัด ปานประหนึ่งเป็นสถานที่ว่างเปล่าปราศจากสิ่งมีชีวิตอยู่ ฉะนั้น

นี่คือ ความมหัศจรรย์ของการที่ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ทรงอภิญญา ๖ ล้วนเป็นเอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา ได้มาประชุมพร้อมกันในที่เฉพาะพระพักตร์ โดยมิได้นัดหมาย ไม่มีใครอาราธนาให้มา ต่างมากันเองด้วยดวงใจรักเทิดทูนในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นมหาสังฆสันนิบาตอันงาม เช่นนี้ ย่อมปรากฏมีเพียงครั้งเดียว ในสมัยของพระโคดมพุทธเจ้าของพวกเรา เนื่องจากพระองค์มาอุบัติในช่วงที่มนุษย์มีอายุขัยต่ำสุด คือ ๑๐๐ ปี เพราะช่วงอายุขัยของมนุษย์ที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาอุบัติตรัสรู้ธรรมได้นั้น ต่ำสุด คือ ๑๐๐ ปี และสูงสุดไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ ปี ดังเช่น พระศรีอริยเมตไตรย มีอายุขัย ถึง ๘๐,๐๐๐ ปี มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ เช่นนี้มากกว่า ๑ ครั้ง

 

และในวาระดิถีที่ ๑๕ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำวิสุทธอุโบสถ คือการแสดงพระปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ ที่ล้วนเป็นพระอรหันต์ ซึ่งจะมีได้ก็เฉพาะในมหาสังฆสันนิบาตเช่นนี้เท่านั้น พระศาสดาทรงแสดงพระปาติโมกข์เอง และทรังตรัสโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนามาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งในสมัยปัจจุบัน ในวันมาฆบูชานี้ พระสงฆ์ทั่วประเทศก็จะกระทำสังฆอุโบสถ แสดงพระปาติโมกข์ เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล เมื่อจบแล้ว ก็จะมีการสวดท้ายปาติโมกข์ด้วยคาถาโอวาทปาติโมกข์ มีใจความดังต่อไปนี้ :-

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา

นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี

สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโตฯ

ขันติ คือความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่า เป็นเยี่ยม

ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง

เอตัง พุทธานะสาสะนังฯ

การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑

 การบำเพ็ญแต่ความดี ๑

 การทำจิตของตนให้ผ่องใสและบริสุทธิ์ ๑

นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต

ปาติโมกเข จะ สังวะโร

มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสสะมิง

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง

อะธิจิตเต จะ อาโยโค

เอตัง พุทธานะ สาสะนังฯ

การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑

ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑

ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑

ที่นั่งนอนอันสงัด ๑

ความเพียรในอธิจิต ๑

นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ดังนั้น ในโอกาสอันเป็นมหามงคลสมัย วันมาฆบูชา เวียนมาบรรจบครบ ท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน จงอย่าได้พลาดโอกาสอันดีงาม ต่างมีมือถูกดอกไม้ธูปเทียน ของหอม และภัตตาหารหวานคาว ไปสู่อารามที่ตนเลื่อมใสศรัทธา เพื่อกระทำอามิสบูชา ทำบุญตักบาตรในยามเช้า จากนั้น ก็สมาทาน ศีล ๕ หรือ ศีลอุโบสถ ตามกำลังความสามารถของตน เป็นปฏิบัติบูชา เสร็จภารกิจแล้ว ก็นั่งสมาธิ เดินจงกรมภาวนาเป็นปฏิบัติบูชาอันยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตกเย็นก็มีการทำวัตรค่ำ และสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน และปิดท้ายด้วยการสวดโอวาทปาติโมกข์ พระเถระผู้ทรงพรรษายุกาล ก็จักแสดงธรรม เพื่อให้เกิดความอาจหาญ ให้รื่นเริงในสัมมาปฏิบัติสืบตลอดไป

.


 

อภิญญา ๖ : อภิญญา แปลว่า “ความรู้ยิ่ง” หมายถึง ปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิต เจริญปัญญา หรือบำเพ็ญกรรมฐาน

๑. อิทธิวิธิ หมายถึง แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้

๒. ทิพพโสต หมายถึง มีหูทิพย์

๓. เจโตปริยญาณ หมายถึง กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้

๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ หมายถึง ระลึกชาติได้

๕. ทิพพจักขุ หมายถึง มีตาทิพย์