ใช้ธรรมนำใจในการทำงาน

0
133

ใช้ธรรมนำใจในการทำงาน

              

เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน ตำรวจเป็นอาชีพหนึ่งที่ทุกคนคุ้นเคยและได้เห็นอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะในข่าวสารบ้านเมือง หรือตามท้องถนน ถือเป็นอาชีพที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดอาชีพหนึ่ง เป็นความฝันของเด็ก ๆ หลายคนที่อยากเป็นตำรวจ ผู้ซึ่งเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา อาตมาได้รับนิมนต์จาก พลตำรวจตรีจักรกฤษ เครือสุนทรสุวรรณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม ให้ไปบรรยายธรรมในหัวข้อ “ธรรมนำใจ ในการทำงาน” ในการประชุมบริหาร ตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ ผู้กำกับการ รองผู้กำกับการ ในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม ที่ห้องประชุม ชั้น 3 ตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม

อาตมาได้เริ่มด้วยการกล่าวว่า “ตำรวจเป็นอาชีพที่ได้ขึ้นว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต้องมีหน้าที่ในการใช้กฎหมายกับประชาชน”

ตำรวจเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เพราะสันติราษฎร์มาจากการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายที่ออก ๆ มา มันเป็นแค่ตัวหนังสือบนกระดาษถ้าไม่มีใครมาบังคับใช้ ฉะนั้นกฎหมายก็เลยให้อำนาจกับบุคคลเพื่อบังคับให้กฎหมายนั้นมันเป็นกฎหมายขึ้นมาจริง ๆ และบุคคลพวกหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจก็คือตำรวจ กฎหมายนั้นถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในบ้านเมือง กฎหมายในประเทศเรามีมากมายเป็นร้อย ๆ ฉบับ แต่ถ้าเป็นกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดไม่ให้คนทำอะไร ทำอย่างนี้ผิดไหม ผิดแล้วมีโทษอย่างไร ผู้มีอำนาจบังคับใช้ในขั้นแรกก็คือตำรวจ ก่อนจะไปถึงอัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ถ้าใครทำอะไรที่มันผิดกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตำรวจก็ต้องจับ จับเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จับเพื่อให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป เพราะกฎหมายเกิดขึ้น มีผู้บังคับใช้ เพื่อไม่ให้สังคมเราเป็นสังคมศาลเตี้ย ไม่ใช่ว่าใครทำอะไรผิด ไม่พอใจ เอาคนผิดมาลงโทษกันเอง ตัดสินปัญหากันเองซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความไม่ยุติธรรม กฎหมายจึงเกิดขึ้น และให้อำนาจตำรวจไปจัดการ นอกจากนี้ ตำรวจยังมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้คนกระทำความผิด ป้องกันไม่ให้อาชญากรรมมันเกิดขึ้นด้วย ที่เขาเรียกว่า การป้องกันและปราบปรามนั่นแหละ

“ตอนนี้พระก็ทำหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปด้วยนั่นคือการที่พระมีหน้าที่นำธรรมะเข้าไปขัดเกลาจิตใจของผู้ต้องขังในเรือนจำด้วยเช่นกัน” ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้อาชญากรรมมันเกิดขึ้น พระอย่างอาตมา ก็ร่วมทำหน้าที่ป้องกันอาชญากรรมอีกทางหนึ่ง นั่นคือการพัฒนาจิตใจ พัฒนาจิตสำนึกของผู้คน คนที่อยู่ในเรือนจำนั้น ไม่ใช่คนชั่วโดยกมลสันดานทั้งหมด แต่เป็นคนที่โชคดี เพราะมีโอกาสได้หยุดทำกรรมไม่ดี และได้รับการขัดเกลาจิตใจ ซึ่งหลักธรรมในพุทธศาสนาสามารถช่วยพวกเขาได้มาก

อาชีพตำรวจหนีไม่พ้นกับการที่จะต้องจับผู้ร้ายมาที่กระทำความผิด ซึ่งแน่นอนย่อมจะมีการดิ้นรนเพื่อให้พ้นความผิด และปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมมีการช่วยเหลือกันหรือทำให้คนผิดเป็นคนถูกและทำให้คนถูกกลายเป็นผู้ผิดสิ่งเหล่านี้คือ กิเลส ซึ่งกิเลส ประกอบด้วยความโลภ ความโกรธและความลุ่มหลง มีหลายกรณีที่ตำรวจตกเป็นผู้ต้องหาในหลายคดีเพราะปัจจุบันในสังคมมีสื่อสังคมและมีเครื่องมีสำหรับบันทึกภาพและเก็บข้อมูลได้เยอะมาก”

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ เพราะเป็นใครก็ตาม ถึงเป็นคนผิดก็มีน้อยคนนักที่พร้อมยืดอกว่าเป็นคนผิด ก็ต้องหาทางทำให้พ้นจากความผิดแต่ขั้นเริ่มแรกโดยไม่ยอมเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม เข้าไปต่อสู้ตามกระบวนการ ก็ตัดจบตั้งแต่ชั้นตำรวจ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ใช้สินบาทคาดสินบน หรือบางทีตำรวจก็เอาเสียเอง เพราะอยากได้ประโยชน์จากตรงนี้ กิเลสมันล่อ ล่อไปล่อมา ทำผิดเสียเอง ก็ต้องถูกดำเนินคดี และสมัยนี้กรรมมันติดจรวด เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้มันล้ำหน้า ทุกคนมีกล้อง มีช่องทางสื่อสาร ถ้าใครทำอะไรไม่ชอบมาพากล ทุกคนพร้อมจะตรวจสอบ ถ่ายคลิป ลงโซเชียล ถ้าเรื่องไหนแรง ๆ ก็มีไปออกรายการอะไรอีก คนรู้กันทั้งประเทศ แม้จะเอาชนะช่องโหว่ทางกฎหมายได้ แต่ก็เอาชนะชื่อเสียที่ติดตัวไปไม่ได้

 “สิ่งที่จะช่วยให้เราหลีกหนีจากสิ่งเหล่านี้ได้คือการนำหลักศีล 5 นำมาปฏิบัติใช้เพื่อเป็นการดับกิเลสและตั้งหลักใช้เป็นการละอายต่อการทำบาป” ศีล 5 เป็นศีลพื้นฐานที่มนุษย์ทุกสาขาอาชีพต้องมี อย่างปัญหาที่มักเจอ ๆ กันมักเป็นปัญหาศีลข้อสอง กับข้อสี่ ข้อว่าด้วยทรัพย์ และมุสาวาท เห็นผลประโยชน์จากทรัพย์ก็มีความคิดอยากเบียดบัง อยากได้ประโยชน์จากทรัพย์นั้น ก็ใช้อุบายต่าง ๆ ด้วยวาจา เพื่อให้ได้ประโยชน์ นั่นก็ไปลงข้อมุสาวาทาอีก หนักเข้าบางทีก็ไปละเมิดศีลข้อหนึ่งเลย ปาณาติบาต เบียดเบียนชีวิต ร่างกายผู้อื่นเสียเอง ตรงนี้ต้องขอให้เตือนใจตนเองเลยว่า การเป็นตำรวจ ตำรวจต้องเป็นแบบอย่างให้สังคมเห็น คนจะเชื่อฟังกฎหมายหรือไม่ เริ่มที่ตำรวจ ถ้าตำรวจไม่เป็นที่น่าเชื่อถือแล้ว คนก็ไม่เคารพกฎหมาย

“ตัวตัดกิเลสได้ดีที่สุดนั่นคือศีลธรรม ซึ่งการมีศีลก็จะมีสมาธิและปัญญาอยู่ด้วย นั่นคือการมีสติ สิ่งที่จะทำนำมาตั้งมั่นไว้คือ ต้องเพิ่มจากความโลภ โกรธ หลง คือการไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง นี่ก็จะทำให้เราอยู่ในศีล และจะสามารถปฏิบัติตัวเองไม่ให้หลงกระทำความผิดและสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้เป็นอย่างดี”

การทำงานต้องมีธรรมนำใจ และธรรมข้อต้นที่สุดที่จะช่วยได้ก็คือเรื่องสติ มีสติว่าเราเป็นใคร เราทำอะไร และเราทำเพื่ออะไร การเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คือผู้อุทิศตนเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ฉะนั้น จะมีความโลภ ความโกรธโดยง่ายนั้นก็ไม่ได้ ต้องมีหิริโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวความชั่ว และผลแห่งความชั่วนั้น และต้องมีความตั้งใจจริง เรียกว่ามีอุดมการณ์ก็ได้ ให้ทำงานเพื่องาน ยิ่งกว่าทำงานเพื่อเงิน การทำงานเพื่อเงินนั้นเป็นของแน่ แต่ถ้าคิดแต่อย่างนี้ถ่ายเดียว พอมีช่องทางเอาประโยชน์ก็อาจถูกกิเลสชักจูงเอาได้ง่าย ๆ แต่ถ้าคิดด้วยว่าเราทำงานเพื่องาน เราจะเกิดความสำนึกในหน้าที่ของตน ว่าเราเป็นใคร เราทำอะไร เราทำเพื่ออะไร เราเป็นตำรวจ เราพิทักษ์สันติราษฎร์ เราทำเพื่อบ้านเมือง ขอให้ตำรวจทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อความผาสุกของบ้านเมืองสืบไป ขอเจริญพร

 

หลวงพี่น้ำฝน : 31 กรกฎาคม 2566