เปิดภัยร้ายแอลกอฮอล์ในรอบปี พบสูงถึง 872 ข่าว เฉลี่ยวันละ 2 ข่าว ตาย 434 ราย ชี้ทุนน้ำเมาพลิกแพลงเลี่ยง ม.32 หลอกผู้บริโภค จี้สคบ. เร่งล้อมคอก

0
991

วันนี้ (20ธันวาคม2561) เวลา10.00 น. ที่เดอะฮอล์บางกอก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์(ครปอ.)และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ จัดเสวนาหัวข้อ “เรื่องเหล้าผลกระทบในรอบปี 2561”

เภสัชกรสงกรานต์  ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ในรอบปี 2561 ที่รวบรวมไว้ใน www.stopdrink.com โดยมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน พบว่า มีทั้งหมด 872 ข่าว หรือเฉลี่ยวันละ 2 ข่าว พบคนบาดเจ็บ 523 ราย เสียชีวิต 434 ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มวัยทำงาน รองลงมาคือกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ยังพบ ผู้ก่อเหตุเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และหากจำแนกข่าวจะพบว่า มีข่าวอาชญากรรมทะเลาะวิวาทสูง 207 ข่าว คิดเป็นร้อยละ23.74 ข่าว อุบัติเหตุอื่นๆ 205 ข่าว หรือร้อยละ 23.51 ที่น่าตกใจคือจำนวนนี้เป็นข่าวเมาจมน้ำตายกว่า 80 ข่าว และข่าวก่อกวน/สร้างความวุ่นวาย 202 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 23.16 และข่าวอุบัติเหตุทางท้องถนน 146 ข่าว คิดเป็นร้อยละ16.74 ส่วนใหญ่เกิดกับกลุ่มเยาวชน  และข่าวความรุนแรงในครอบครัว/คุกคามทางเพศ 112 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 12.85 ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า การเฝ้าระวังในรอบปี 61 ปัญหาใหญ่  คือ ความพยายามขายเบียร์สดทางตู้กดในร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง จนเกิดการเคลื่อนไหวและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สุดท้ายกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อทั้งสองค่ายก็ยอมยุติ  ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ต่อมาได้มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ห้ามเอาไว้ชัดเจนแล้ว ขณะเดียวกันกลุ่มทุนน้ำเมายังมีความพยามฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 มาตรา 32 ที่ควบคุมการโฆษณาโดยพยามดัดแปลงใช้ตราเสมือนในสินค้าที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เพื่อโฆษณาได้ทุกรูปแบบตลอด 24 ชั่วโมง เช่น น้ำดื่ม โซดา ซึ่งเป็นความผิดพลาดของระบบราชการ ที่อนุญาตให้จดทะเบียนได้  เราเรียกแบบนี้ว่ากลยุทธ์ศรีธนญชัย กระทรวงพาณิชย์เอง ต้องดูเรื่องการให้จดทะเบียนสินค้าตราเสมือนน้ำเมาแบบนี้ด้วย สุดท้ายกำลังสร้างปัญหาไปทั่ว อีกทั้งยังเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก็ควรดูแลตรงนี้ด้วย  ว่าเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่  ขณะเดียวยังมีเรื่องในระดับพื้นที่ ที่กลุ่มทุนรุกหนัก โดยใช้ ดนตรี กีฬา CSR เป็นสปอนเซอร์ ซึ่งนี้คือปัญหาใหญ่อีกเหมือนกันโดยเฉพาะฟรีคอนเสริ์ตลานเบียร์

“สิ่งสำคัญที่เรากังวลขณะนี้คือ CSRของบริษัททุนน้ำเมาเข้ามาจับมือร่วมกับภาครัฐ ซึ่งมันส่งผลในระดับการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมายที่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไปใกล้ชิดกับผู้บริหารรัฐระดับสูง ซึ่งเราต้องเรียกร้องให้มีระยะห่าง เพราะมันมีผลโดยตรงต่อการบังคับใช้กฎหมาย ผู้ปฎิบัติงานไม่สามารถทำได้หรือมีความเกรงอกเกรงใจ  ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่รัฐบาลก็ต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย  โดยเฉพาะจากส่วนกลางทั้งกระทรวง สธ.และ สตช. ฝ่ายปกครอง หน่วยงานเฉพาะกิจ ต้องเฝ้าตรวจตรา รวมทั้งกลไกอื่นๆ ต้องแอคทีฟเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในการปฎิบัติงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ก็ต้องขยับตัวในบทบาทหน้าที่ให้มากกว่านี้  ประชาชนเองก็ต้องบริโภคอย่างระมัดระวัง แม้ตัวเลขการบริโภคจะลดลงก็ไม่ควรฝ่าฝืนกฎหมาย” นายคำรณ ระบุ

ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะพยายามแก้ปัญหาการเสียชีวิตและพิการจากอุบัติเหตุจราจร แต่ประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในปีพ.ศ.2560 จำนวน 15,262 ราย โดยเฉพาะในเทศกาลปีใหม่ปีพ.ศ.2561 มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 60 คน คิดเป็นเกือบ 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับวันปกติผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและวัยทำงานคิดเป็นร้อยละ 84 ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุจราจร สัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงร้อยละ 40 โดยผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อได้ประสบอุบัติเหตุจราจรจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มถึง 1.5 เท่า เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนกันจะไม่สามารถหักหลบ หรือเอามือป้องกันศีรษะตนเองได้ ยิ่งไปกว่านั้นมีการศึกษาพบว่าผู้ที่ดื่มสุราแล้วขับขี่จักรยานยนต์จะสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 2.9 ในขณะที่ผู้ไม่ดื่มสุราจะสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 58.3

“ในช่วงเทศกาลปีใหม่พ.ศ.2562 ที่กำลังจะมาถึง คาดว่าจะมีการเสียชีวิตของคนไทยอีกกว่า 400 คน เหมือนทุกปี โดยในเทศกาลปีใหม่ การดื่มสุราจะเป็นการจัดงานเลี้ยงในที่ทำงาน ในบริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยราชการ ซึ่งจะต่างจากเทศกาลสงกรานต์ที่จะจัดที่บ้านและชุมชน เมื่อเลิกงานเลี้ยงผู้ร่วมงานจะเดินทางกลับ และประสบอุบัติเหตุระหว่างทาง” นพ.พงศ์เทพ ระบุ

นพ.พงศ์เทพ กล่าวด้วยว่า มาตรการส่วนใหญ่ที่ดำเนินการในช่วงเทศกาลมักไม่ค่อยได้ผล เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนนิสัย และไม่กลัวกฎหมาย ยังคิดว่าการดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็ทำกัน ดื่มหลายครั้งแล้วไม่เคยเกิดเหตุ ถ้าเกิดอุบัติเหตุก็รักษาฟรี ถ้าโดนจับก็แค่คุมประพฤติ ตราบใดที่การรณรงค์และการตรวจจับทำแต่เพียงช่วงเทศกาล ตราบนั้นคนไทยก็คงต้องตายและพิการกันต่อไปทุกปี

ขณะที่นายตะวัน  จันทร์เทศ อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดตาก เหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุ ถูกรถกะบะชน เมื่ออายุ 19 ปี จนทำให้ถูกตัดขาทั้ง 2 ข้าง ต้องนั่งวิลแชร์ไปตลอดชีวิต ทั้งนี้คนขับรถกะบะเมาสุรา เลี้ยวรถตัดหน้าโดยไม่เปิดไฟเลี้ยวในซอยหมู่บ้าน

“เมื่อไม่มีขา ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป กว่า 6-7 ปีที่ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เพราะไม่สามารถทำงานได้ แม่ต้องรับภาระหนักเพิ่มขึ้น คิดว่าเราไม่ได้ดื่ม ไม่น่าเกิดขึ้นกับเรา แต่ก็คงไม่มีใครรู้ล่วงหน้า เมื่อเกิดแล้วก็ต้องยอมรับให้ได้ ตอนนี้มีแม่ และครอบครัวเป็นกำลังใจให้ผมสู้ชีวิตต่อไป ส่วนคนที่ทำผิด ก็ไม่เคยมาเจอกัน นอกจากพบกันที่ศาล ซึ่งขณะนี้ก็ตัดสินความผิดกันไปตามกระบวนกฎหมายแล้ว เขาก็จ่ายเงินเยียวยาซึ่งต่อให้ได้เงินร้อยล้านก็ไม่คุ้มเพื่อแลกสิ่งที่สูญเสียกลับคืนมาได้” น้องตะวัน กล่าว