เครือข่ายสถานศึกษา เร่งขับเคลื่อนงานปลูกพลังบวกสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ทั่วประเทศ

0
1100

หวังยกระดับขับเคลื่อนการเรียนการสอนให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นรากฐานการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพสู่สังคมที่ดี ในขณะที่ผลวิจัยเผยเด็กไทยเป็นนักดื่มหน้าใหม่ ตั้งแต่ 7 ขวบ

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชุมพรและภาคีสถานศึกษา จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการครูปฐมวัย ภายใต้โครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นการวางรากฐาน เพื่อสร้างความตระหนักให้เด็กมีทักษะชีวิตที่ดี เห็นคุณค่าในตนเอง รู้จักคิด วิเคราะห์แก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมเวิร์คช็อป โดยใช้ชุดกิจกรรมตามหลักสูตรปฐมวัย กิจกรรมความรู้ผู้ปกครองสานสัมพันธ์ บ้าน โรงเรียน พ่อแม่ลูกผูกพัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งนี้เป็นการอบรมเพื่อต่อยอดการทำงานของครู จากสถานศึกษาจังหวัดชุมพร รุ่นที่ 1 ปี  2562  และสถานศึกษารุ่นที่ 2 ปี 2563 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากสถานศึกษา 40 แห่ง จัดขึ้น ณ ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลชุมพรวัดสุวรรณนิมิตร จังหวัดชุมพร

นายพันเทพ สุวรรณขันธ์  ศึกษาธิการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า การปลูกฝังพลังบวก ฯ เด็กเล็กอายุตั้งแต่  3-6 ปี มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วงปฐมวัยสมองการเจริญเติบโตมากที่สุดกว่า 80% การปลูกฝังทัศนคติ ความเชื่อ ส่งเสริมการซึมซับ ปรับ ปลูก ดังคำกล่าวที่ว่า  “ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน” และ “ร้อยพันคำสอน ไม่เท่ากับหนึ่งแบบอย่าง” ดังนั้นการปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กและการปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่  จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานเสริมหนุน สถานศึกษา คุณครูและผู้ปกครอง คนใกล้ชิดตัวเด็ก ควรมีเครื่องมือที่สื่อสารและวิธีการที่เหมาะสม ให้เด็กมีพลังบวกอย่างยั่งยืน จังหวัดชุมพรขณะนี้ได้ยกระดับการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เกิดการพัฒนาสมองในรอบด้านและยังสร้างความตระหนักให้เขารักและเห็นคุณค่าตนเองและผู้อื่น เพื่อให้เด็กอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต

นางสาวมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการปลูกพลังบวกฯ ได้กล่าว ปัญหาด้านสังคม ปัญหายาเสพติด ปัจจัยเสี่ยงของเด็ก เยาวชน ในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง ปัจจัยเสี่ยงด้าน เหล้า และบุหรี่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างมากขึ้น ในปัจจุบันพบว่ามีนักสูบบุหรี่  นักดื่มเหล้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้น  ในช่วงอายุ 13 -15 ปี อัตราเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.96 และมีนักสูบบุหรี่ นักดื่มแอลกอฮอล์ อายุน้อยลงตั้งแต่ 7 ปี ทั้งยังพบว่า คนไทยดื่มเหล้ามากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (องค์การอนามัยโลก)  จากการรณรงค์เมาไม่ขับ ของ สสส.และรัฐบาล ในเทศกาลสงกรานต์ จะเห็นว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากขึ้นทุกปี  โดยมีสาเหตุหลัก คือ เมาแล้วขับ ซึ่งส่งผลเสียหายอย่างมหาศาลกับชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของชาติ  จากข้อมูลจะเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยง เรื่องเหล้า และบุหรี่ มีเพิ่มขึ้นในเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะที่สำคัญคือ  ปัจจัยเสี่ยงเริ่มมีอายุน้อยลง ดังนั้นการสร้างพลังบวก สร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัยให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรปฐมวัย ของกระทรวงศึกษาธิการ การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออให้สถานศึกษาและบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษามีความเข้าใจในชุดกิจกรรมผู้เรียนปลูกพลังบวกฯ และให้เด็กปฐมวัยมีภูมิคุ้มกันและสามารถสื่อสารสู่ผู้ปกครองลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ได้

นางสาวมาลัย กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมอบรม ศึกษาแลกเปลี่ยนจะเป็นการสื่อสารเรื่องราวที่ใกล้ตัว ประกอบด้วย การร้อง เล่น เต้น อ่าน  มีเรื่องเล่าจากหนังสือนิทาน ตลอดจนบทเพลงและกิจกรรมศิลปะเพื่อการรณรงค์ โดยจะเป็นการนำกิจกรรมมาแทรกเข้าไปในหลักสูตรปฐมวัยภาคปกติ แต่เน้นเป็นเนื้อหาที่เยอะขึ้น เช่นการเรียนเรื่องหน่วยบ้าน พ่อ-แม่เป็นอย่างไร ดื่มเหล้าแล้วดีไหม มีการทำศิลปะ เรื่องบุหรี่-เหล้า ภายใต้บ้านที่อบอุ่น และบ้านที่ไม่อบอุ่นเป็นอย่างไร บ้านที่มีการทะเลาะกันเพราะมีเหล้าเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่งผลอย่างไรต่อครอบครัว เด็กเล็กจะมีวิธีการสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างน่ารัก สำหรับการร้องขอ เชิญชวนให้คุณพ่อ คุณแม่เลิกดื่มเหล้า เลิกการสูบบุหรี่ เพราะอยากให้อยู่ด้วยกันนานๆ หลังจากกิจกรรมผ่านช่วงเข้าพรรษาเป็นต้นมา กิจกรรมนี้เห็นผลการตอบรับจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี