สิ้น “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ พระกัมมัฏฐานคามวาสีสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สิริรวมอายุ 100 ปี 81 พรรษา

0
2156

 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะประธานกรรมการวัดสัมพันธวงศาราม กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการมส. ได้มรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยความชราภาพ ที่รพ.จุฬาลงกรณ์  สิริรวมอายุ 100 ปี 81 พรรษา ส่วนกำหนดการต่างๆ จะมีการประชุมกับทางพระเทพสังวรญาณ (จิรพล อธิจิตโต)  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม และคณะกรรมการวัดสัมพันธวงศาราม เบื้องต้นคาดว่าจะมีพิธีสรงน้ำในวันที่ 12 พ.ย.หรือวันที่ 13 พ.ย.นี้

ทั้งนี้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุถึง 100 ปี เป็นรูปที่ 4 ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย งดงาม น่าเลื่อมใส เปรียบได้กับพระกัมมัฏฐานกลางกรุง ครั้งหนึ่งเคยเดินธุดงค์ไปบนเส้นทางเดียวกับพระกัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นอกจากนี้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ยังเน้นการปฏิบัติภาวนาพร้อมกับการปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ยึดถือแนวปฏิบัติของหลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 2 พระสายวิปัสสนากรรมฐานชื่อดัง มาโดยตลอด

สำหรับประวัติ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙) มีนามเดิม กงมา ภายหลัง พระเดชพระคุณ พระมหารัชชมังคลาจารย์ นิทฺเทสกเถร พระอุปัชฌายะและเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เปลี่ยนให้เป็น มานิต เกิด ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๒๗๙ (ร.ศ. ๑๓๖) ที่บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) โยมบิดาชื่อช่วย โยมมารดาชื่อกา สกุล ก่อบุญ เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้อง ๑๑ คน

พ.ศ. ๒๔๗๒ บรรชาเป็นสามเณรมหานิกาย ที่วัดบ้านบ่อชะเนง ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านนั้นพร้อมกับเพื่อนรุ่นพี่ชื่อชัย มีเจ้าอาวาสวัดนั้นชื่อยาคูโม้ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชเป็นสามเณรได้ปีหนึ่ง มีจิตน้อมไปในทางออกปฏิบัติธุดงค์กรรมฐาน หลังจากออกพรรษาแล้ว ออกเดินธุดงค์ติดตามพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ไปยังหลายพื้นที่ในภาคอีสาน

พ.ศ. ๒๔๗๓ ญัตติเป็นสามเณรธรรมยุตที่ วัดป่าวิเวกธรรม (เมื่อครั้งยังเป็นป่าช้าเหล่างา) ตำบลพระลับ อำเภอเมือง โดยมีอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอุปัชฌาย์แทนพระครูพิศาลอรัญญเขต เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ และเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) ออกพรรษาแล้วเดินธุดงค์ออกปฏิบัติกรรมฐานไปยังจังหวัดชัยภูมิ กับอาจารย์กรรมฐานผู้เป็นหัวหน้าคณะชื่อท่านอุ่นเนื้อ และ พ.ศ. ๒๔๗๔ จำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นปีที่เริ่มสร้างวัดนั้น ซึ่งหลวงชาญนิคมฯ ผู้ถวายที่ดินให้สร้างวัด ได้นิมนต์ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม จากจังหวัดขอนแก่นมาเป็นเจ้าอาวาส และอบรมสั่งสอนประชาชนชาวนครราชสีมาที่นี่ ท่านจึงนิมนต์พระกรรมฐานที่เป็นศิษยานุศิษย์ ให้มาจำพรรษารวมกันที่วัดนั้น จึงติดตามอาจารย์อุ่นเนื้อ มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นด้วย

พ.ศ. ๒๔๗๕ ออกพรรษาแล้วเดินทางกลับไปเยี่ยมญาติโยมที่บ้านบ่อชะเนง จากนั้นตั้งใจจะออกธุดงค์กรรมฐาน ติดตามอาจารย์และเพื่อนสามเณรที่แยกย้ายกันไปหลังจากจำพรรษาที่วัดป่าสาลวันแล้ว ทราบข่าวว่าเพื่อนสามเณร ๒ รูป ที่เข้าป่าออกกรรมฐานล่วงหน้าไปก่อนมรณภาพเพราะไข้ป่า จึงเกิดความคิดว่าเรายังเด็กเกินไปที่จะเข้าป่า ในวัยนี้ ควรจะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมดีกว่า จึงตัดสินใจเดินทางไปยังจังหวัดนครพนม เพื่อแสวงหาสถานที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ได้อยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญิกาวาส (วัดโพนแก้ว) อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เริ่มเรียนปริยัติธรรมที่นั้นเป็นเวลา ๔ ปี

พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก วัดโพธิชัย ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ได้ฝากท่านและสามเณรอีกรูป ชื่อ สามเณรทองทิพย์ เพื่อมาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์ โดยพระเดชพระคุณ พระมหารัชชมังคลาจารย์ นิทฺเทสกเถร (เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระรัชชมงคลมุนี) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ได้รับเมตตาพระเดชพระคุณเจ้าอาวาสฯ ให้ไปอยู่ที่กุฎีนิตยเกษม ในความกำกับดูแลของท่านเจ้าคุณ พระเนกขัมมมุนี (เฉย ยโส) (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพปัญญามุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ รูปที่ ๑๐) จากนั้นก็อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์ตามที่ได้ตั้งใจไว้

อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๘๐ อายุ ๒๐ ปี ณ พระอุโบสถวัดสัมพันธวงศ์ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยมี พระเดชพระคุณ พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระรัชชมงคลมุนี เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูสุวรรณรังษี (สุวรรณ ชุตินฺธโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูปลัด เส็ง ทินฺนวโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (ภายหลังรับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระเนกขัมมมุนี)

ท่านตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้ ป.ธ.๙ อันเป็นหลักสูตรขั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ช่วยรับภาระสนองงานท่านเจ้าอาวาสอย่างแข็งขัน อาทิเช่น เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม เป็นครูใหญ่ประจำสำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์ เป็นผู้อำนวยการศึกษา เป็นกรรมการสงฆ์ เป็นเลขานุการวัด และเลขานุการกรรมการจัดผลประโยชน์วัดสัมพันธวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ในวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๑๔ และเป็นพระอุปัชฌายะวิสามัญในปีเดียวกันนี้

ในหน้าการงานทางคณะสงฆ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น เป็นพระวินัยธรจังหวัด เป็นเลขานุการเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดธนบุรี-นนทบุรี-ปทุมธานี เป็นกรรมตรวจบาลีสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง เป็นผู้ช่วยหัวหน้าพระธรรมธรคณะธรรมยุต เป็นรองเจ้าคณะภาค ๘ – ๑๐ (ธรรมยุต) เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๐ – ๑๑ (ธรรมยุต) เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะภาค ๙ – ๑๐ – ๑๑ (ธรรมยุต) และเป็นเจ้าคณะภาค ๑๑ (ธรรมยุต) (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๑๙) เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม รวมทั้งรับหน้าที่ทางคณะสงฆ์อื่นๆ จำนวนมาก ตามที่มหาเถรสมาคมและเจ้าคณะผู้ปกครองมอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์

ด้านสมณศักดิ์ ได้รับโปรดพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะมาตามลำดับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙ และในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ ๙ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่

 “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสุต พุทธพจนมธุรธรรมวาที ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจารวัตร พุทธบริษัทปสาทกร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระราชาคณะ”

ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน เป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๑ (ธรรมยุต) และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

ร้อยเรียงประวัติโดย พระมหาสำรวย นาควโร คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ

ท่านผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ 100 ปี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวรมหาเถร ป.ธ.๙)

ลิงค์ดาวน์โหลด https://drive.goo…WjXnM/view