สันติศึกษา มจร นำหลัก “ไตรสิกขา” พัฒนาผู้ไกล่เกลี่ย

0
536

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และผอ.หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) กล่าวว่า ตามที่ได้มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ของมจร รุ่นที่ 3 (หลักสูตรระยะสั้น) ระหว่างวันที่ 24-28 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องสัมมาปัญญา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้สำเร็จหลักสูตร จำนวน 52 รูป/คนนั้น สำหรับการพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ย ตามพ.ร.บ.ข้อพิพาทภาคประชาชน พ.ศ.2562 ที่หลักสูตรสันติศึกษา มจร ร่วมมือกับเครือข่าย ทั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานศาลยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พัฒนาผู้ไกล่เกลี่ย รุ่นที่ 3 ครั้งนี้ มีกรอบการพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยคือ หลักไตรสิกขา หรือภาษาสมัยใหม่เรียกว่า “CAP Model” ได้แก่ การพัฒนาปัญญาความรู้เกี่ยวกับแนวคิดเครื่องมือที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการไกล่เกลี่ย (Cognitive) พัฒนาจิตใจให้มีสติ สมาธิ เพื่อปรับ Mindset  หรือวิธีคิด ความคิด เพื่อให้มีจิตใจตั้งมั่นสามารถจัดการกับกิเลสต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้าและยั่วยุ และพัฒนาพฤติกรรม ท่าทีของผู้ไกล่เกลี่ย รวมถึงทักษะในการไกล่เกลี่ย ภายใต้การบูรณาการเนื้อหาหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ

พระมหาหรรษา กล่าวต่อไปว่า การจัดฝึกอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนและสังคมที่กำลังขัดแย้งกัน และมุ่งหวังจะใช้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก เปิดพื้นที่ให้คู่ความได้ทางเลือกเพิ่มเติมในการจัดการความขัดแย้ง ผ่านการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ผลที่ตามมา คือ ช่วยลดคดีในชั้นศาล ลดค่าใช้จ่าย และเวลา แล้วเพิ่มโอกาสในการพูดคุย เพิ่มอำนาจการตัดสินใจ และเพิ่มความสัมพันธ์แก่คู่กรณี นับได้ว่า หลักสูตรสันติศึกษา มจร ช่วยทำหน้าที่เป็นกลไกส่วนหนึ่งของสังคมที่จะช่วยขับเคลื่อน และเสริมสร้างชุมชน สังคม ให้เกิดสันติสุข ทั้งผ่านการจัดหลักสูตรปริญญาโทและเอก รวมถึงหลักสูตรระยะสั้น เพื่อทำให้เกิดสันติภาพขึ้นแก่ชุมชนและสังคม