สมาคม NCDs จับมือ เครือข่ายงดเหล้า และ สสส. เปิดเสวนาออนไลน์ NCDs กับนักดื่มหน้าใหม่

0
635

ถกปัญหาท้าทายในยุคสื่อสังคมออนไลน์ จับตาแอลกอฮอล์รุกคืบ ต้องเร่งสร้างมาตรการเพื่อลดปัญหาในกลุ่มเยาวชน

เมื่อวันพุธที่ 23 มิถุนายน 2564 ในกิจกรรมเสวนาออนไลน์ประเด็น “NCDs และนักดื่มหน้าใหม่ ปัญหาท้าทายในสื่อสังคมออนไลน์” โดยเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก โดยทั้งโลกมีผู้เสียชีวิตปีละมากกว่า 40 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด สำหรับประเทศไทยนั้นมีสถิติที่สูงกว่าคือร้อยละ 74 นอกจากนี้อัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs ของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเรื่องนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งอายุเฉลี่ยของผู้ที่ดื่มเป็นครั้งแรกคือ 20.3 ปี โดยผู้ชายจะดื่มไวกว่าผู้หญิงเล็กน้อย คือผู้ชายโดยเฉลี่ยดื่มครั้งแรกเมื่ออายุ 19.3 ปี และผู้หญิง 23.7 ปี นอกจากนี้พบว่าร้อยละ 12.2 เริ่มดื่มครั้งแรกเมื่ออายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เริ่มดื่มสุราคือ ร้อยละ 38.9 ตามอย่างเพื่อนหรือเพื่อนชวน, ร้อยละ 29.1 อยากทดลองดื่ม, และร้อยละ 17.7 เข้าสังคมในงานรื่นเริง/งานประเพณีอื่นๆ ข้อมูลจาก WHO ระบุว่าประชากรทั่วโลกเสียชีวิต 3 ล้านคน สาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5.3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ทั้งนี้ในเยาวชนที่มีการเริ่มดื่มตั้งแต่อายุยังน้อย แนวโน้มว่าจะมีโอกาสติดสุรา ซึ่งจะทำให้อัตราการเพิ่มจำนวนของคนที่เป็น NCDs ในประเทศ ซึ่งมีมากอยู่แล้ว และนำไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตมากขึ้น

รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ให้ข้อมูลว่า สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทยได้รณรงค์เพื่อลดการป่วยจากกลุ่มโรค NCDs โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายของการมีสุขภาพที่ดีทั้งในระดับบุคคลและระดับนโยบาย ส่วนการดูแลเยาวชน อย่างแรกเลยต้องตั้งเรื่อง My Set หรือไอเดียที่จะต้องใช้ชีวิต ในแนวทางที่เรียกว่าส่งเสริมสุขภาพ และต้องไม่ขัดต่อการมีสุขภาพที่ดี เช่นนักฟุตบอลโลกที่กำลังเป็นข่าวในตอนนี้ เขาออกมาสื่อสารว่า อะไรก็ตามที่เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ เขาไม่ทำ และไม่แนะนำให้ทำ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขาเป็นนักกีฬาที่มีสุขภาพที่แข็งแรง เพราะฉะนั้นนโยบายของชาติในทุกๆด้าน ต้องเอาตัวสุขภาพดีเป็นที่ตั้งไว้ แล้วนโยบายทั้งหลายต่างๆ ที่นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ต้องให้การสนับสนุนและต้องให้ความสำคัญ เป็นลำดับต้นๆ ส่วนนโยบายต่างๆของรัฐบาล จะต้องบูรณาการเชื่อมโยงกันโดยที่ไม่ขัดแย้งกันในนโยบายนั้นๆ เช่น เรื่องของโฆษณาแอลกอฮอล์ อันนี้เป็นการขัดต่อการมีสุขภาพที่ดี การมีรายได้ที่ได้มาแลกกับการสูญเสียของการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งรัฐบาลต้องมีความชอบธรรมที่จะเป็นหน่วยงานที่ควบคุมปัญหาเพราะเมื่อมีคนป่วยก็จะต้องเป็นคนที่ควักกระเป๋าเงินภาษีไปจ่ายให้ ดังนั้นต้องรู้เท่าทัน สุขภาพ แล้วมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้วยกัน

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า เมื่อพูดถึง NCDs จะนึกถึง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด ที่มักจะเกิดในวัยผู้สูงอายุ แต่ความจริงนั้นมันเป็นระเบิดเวลา ที่เริ่มจุดตั้งแต่วัยเด็กเล็กและวัยรุ่น ซึ่งเราทราบกันดีว่าไม่มีการดื่มที่ปลอดภัย เพียงดื่มวันละแก้ว ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด ยังมีโรคทางสมองหรือพัฒนาการทางสมอง ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับแอลกอฮอล์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เยาวชนมีพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทแย่ลง ส่งผลให้เยาวชนและประชาชน ซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศสูญเสียประสิทธิภาพ

“ดังนั้น การป้องการและควบคุมปัญหา NCDs ควรต้องเริ่มจากวัยเยาวชนตั้งแต่ปฐมวัย แต่ทุกวันนี้เยาวชนนั้นกลายเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะเพิ่มยอดขาย แต่เยาวชนคิดว่าแอลกอฮอล์เป็นไลฟ์สไตล์ เป็นความทันสมัย จนเยาวชนเองกลายเป็นตัวแทนของบริษัทแอลกอฮอล์ เป็นพรีเซนเตอร์ที่ดีกว่านักร้องนักแสดง หากเพื่อนๆ ของเขาดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก โอกาสที่จะทำให้เด็กคนนั้นดื่มแอลกอฮอล์มากตามมาด้วย ขณะนี้กลายเป็นปัจจัยที่ทรงอิทธิพลมาก ถ้าโตขึ้นมาแล้วจะดื่มหรือไม่ ให้วัดที่เพื่อนที่สนิทรอบข้างจำนวน 5 คน อันนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาก มันกลายเป็นความคุ้นชิน จนทำให้แอลกอฮอล์ได้” นพ.ทักษพล กล่าว

 

ด้านนางสาวอภิศา มะหะมาน ผู้ประสานงานโครงการ “ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” โพธิสัตว์น้อย และโรงเรียนคำพ่อสอน กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างให้เจ้าของธุรกิจร่ำรวยติดอันดับโลก แต่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคมากมาย ไม่ว่าจะสุขภาพร่างกายในกลุ่มโรค NCDs และยังเป็นน้ำผลาญสติไปทำลายสมองอีกด้วย เมื่อเกิดปัญหาครอบคลุมทั้งประเทศ จึงออกแบบการทำงานโดยบูรณาการแบบเกาะติดอย่างต่อเนื่อง ผ่านระบบการศึกษา ทั้งนี้ได้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเข้าใจธรรมชาติของเด็กๆแต่ละห้วงวัย จะมีผลที่ต่อการลด NCDs ที่ต้นทางด้วย เช่นกัน ทั้งนี้เป็นงานที่ทำมาอย่างต่อเนื่องคือ 1.โรงเรียนคำพ่อสอน 2.ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า(โพธิสัตว์น้อย) 3.ครูดีไม่มีอบายมุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลในระยะสั้นและระยะยาวของสังคมไทย ซึ่งการทำงานในยุคนี้ต้องมองลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็งถึงเหตุปัจจัยที่มีผลต่อการเป็นนักดื่มหน้าใหม่

ขณะที่นางสาวมาลัย มีนศรี ผู้ประสานงานโครงการปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ กล่าวว่า สำหรับเด็กปฐมวัย พบว่า เด็กเล็กได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วผ่านอายตนะ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ จากพฤติกรรมของคนใกล้ชิด ซึ่งได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง สื่อต่างๆ สิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งหมดนี้เป็นการซึมซับเข้าสู่ระบบสมอง 80% ของเด็กเล็กที่กำลังเจริญเติบโต และฝังสู่จิตใต้สำนึก ยากที่จะลืมเลือน เมื่อมีโอกาสในวัยรุ่นจึงเข้าถึงดื่มง่าย ทางโครงการฯ จึงได้มีแนวคิดพัฒนาสื่อเป็นชุดกิจกรรม เพื่อสื่อสารผู้เรียนปลูกพลังบวกฯ ประกอบด้วย นิทาน เพลง เกมส์ ซึ่งสามารถนำความรู้ไปบูรณาการกับแผนการสอนของครูในศูนย์เด็กเล็กและชั้นอนุบาล ของโรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษา พร้อมทั้งอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับคุณครู โดยสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครอง และมีการติดตาม เสริมหนุน ผลการดำเนินงานแต่ละสถานศึกษา โดยคณะศึกษานิเทศก์ด้านปฐมวัย และฝ่ายการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 4 ภูมิภาค

นอกจากนี้ ในการเสวนาครั้งนี้ ยังมีตัวแทนกลุ่มเยาวชน จากทางด้านสายงานต่างๆ อาทิ กลุ่มศิลปินดนตรีโคตรอินดี้/ กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ Mango Plus / กลุ่ม B-Boy จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีการทำงานกับเด็ก เยาวชน ซึ่งได้มาร่วมแลกเปลี่ยน เสนอแนะ และแสดงความคิดเห็นในมุมมองของเยาวชนอย่างหลากหลายอีกด้วย