ศรัทธาญาติโยมล้นหลาม ร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรเทโว ณ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

0
277

วันที่ 22 ตุลาคม 2564 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ที่วัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พุทธศาสนิกชนจำนวนมากร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม โดยพร้อมใจกันร่วมพิธีตักบาตรเทโวโลหณะ ด้วยข้าวสารอาหารแห้งโดยมีพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ออกรับบิณฑบาต มีนายสมชาติ  (นายเงี๊ยบ) สาลีพัฒนา  ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ในการประกอบพิธีตักบาตรฯ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์  เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม นำคณะสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ บูชาพระรัตนตรัยภายในพระอุโบสถ จากนั้นเดินลงจากพระอุโบสถ เพื่อรับบิณฑบาต ที่มีศรัทธาญาติโยมจำนวนมากเดินทางมาตั้งโต๊ะเพื่อเตรียมใส่บาตรด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง พร้อมกับถวายปัจจัยทำบุญเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  โดยวัดไผ่ล้อมได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  และในปีนี้มีการจัดโต๊ะที่แยกเว้นระยะห่างตามาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด ในการนี้ทางวัดไผ่ล้อมได้มีการถ่ายทอดสด(ไลฟ์สด)ผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อให้ลูกศิษย์ที่ไม่ได้เดินทางมาได้ร่วมกันอนุโมทนาและรับพรที่บ้านได้ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีตักบาตรเทโวเนื่องในวันออกพรรษาของชาวพุทธที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน

ตักบาตรเทโว หรือตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ในเวลาเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากที่พระองค์ทรงจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา 3 เดือน ความสำคัญของวันเทโวโรหณะ เป็นวันที่มีการทำบุญตักบาตรที่พิเศษวันหนึ่ง กล่าวคือ ในพรรษาหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดา และทรงจำพรรษาที่นั้น พอออกพรรษาก็เสด็จลงจากเทวโลกนั้นมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงที่เมืองสังกัสส์ ใกล้เมืองพาราณสี ชาวบ้านชาวเมืองทราบข่าวก็พากันไปทำบุญตักบาตรพระพุทธองค์ที่นั้น และเป็นการรับเสด็จพระพุทธองค์ด้วย กล่าวกันว่า ในวันนี้ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน จึงเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” คือ เปิดให้เห็น กันทั้ง 3 โลกนั้นเอง

การตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติสืบเนื่อง ต่อกันมาเป็นประเพณี จนถึงเมืองไทย จึงเรียกประเพณีนี้ ว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อให้สะดวกในการสื่อความหมายนิยมสั้นๆ ว่า การตักบาตรเทโว ด้วยเหตุนี้ วันเทโวโรหณะจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันตักบาตรเทโว และเมื่อถึงวันตักบาตรเทโว พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรกันที่วัด โดยแต่ละที่จะเตรียมของไปทำบุญ ในแบบที่อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับที่สัดในแต่ละที่ เช่น เตรียมอาหารในตอนเช้า อาหารที่เตรียมเพื่อตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้ คือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน หรือข้าวสารอาหารแห้ง วัดบางวัดอาจจะจำลองสถานการณ์วันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คือ ประชาชนจะนั่งหรือยืนสองฝั่งทางลงจากอุโบสถ หรือศาลา ให้พระสงฆ์เดินเข้าแถวเรียงลำดับรับบาตรตรงกลาง โดยมีมัคนายก เดินอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์ หลักจากตักบาตรแล้ว มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีล ฟังธรรมและทำสมาธิตามโอกาส เพื่อทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส แผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ ผู้ล่วงลับ และสรรพสัตว์