ศน.จัดกิจกรรม “รวมกันทำดี สามัคคีวันเสาร์” สานต่อกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรม มุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนนำหลักธรรมไปปฏิบัติเสริมสิริมงคล ทำประโยชน์ให้สังคม ประเทศชาติ

0
775

วันนี้ (วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564) เวลา 08.30 น. กรมการศาสนา(ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้จัดกิจกรรม “รวมกันทำดี สามัคคีวันเสาร์” ตามโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมของกรมการศาสนา ณ วัดยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยมีนายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา และประชาชนเข้าร่วม

นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า วิถีชีวิตของสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ พุทธศาสนิกชนพากันเข้าวัดทำบุญ ตักบาตร นั่งสมาธิ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส กระทรวงวัฒนธรรมจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในวันเสาร์ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความประสงค์ของพุทธศาสนิกชนที่ว่างเว้นจากภารกิจประจำ มีวัน ว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ กรมการศาสนาจึงได้รับดำเนินการ และได้กำหนดจัดกิจกรรม “รวมกันทำดี สามัคคีวันเสาร์” ในวันเสาร์สุดท้ายของทุกเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 – กันยายน 2564 รวมจำนวน 7 วัด ณ วัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่

1.วัดยานนาวา เขตสาทร 2.วัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี 3.วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร 4.วัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ 5.วัดสะพาน เขตคลองเตย 6.วัดลาดพร้าว เขตลาดพร้าว และ 7.วัดเสมียนนารี เขตจตุจักร

เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัด นำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติ และในการจัดกิจกรรมนั้น ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐด้านศาสนา โดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมและให้ความอุปถัมภ์คุ้มครองกิจการด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและภารกิจดังกล่าว กรมการศาสนาจึงได้พิจารณากำหนดจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมวันเสาร์ขึ้น เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าวันเสาร์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ที่พุทธศาสนิกชนในหลายภาคส่วนได้หยุดพักจากการปฏิบัติงานหรือการประกอบอาชีพ และใช้เวลาในวันหยุดดังกล่าว เข้าวัด ไหว้พระ สวดมนต์และปฏิบัติธรรมตามสมควร เพื่อเป็นการเสริมสร้างสมาธิ ทำให้จิตใจเบิกบาน มีสติรู้เท่าทัน เกิดความสงบและช่วยให้ผ่อนคลายความวิตกกังวลและความเครียดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย