“วิสาขบูชาโลก” เครื่องมือสร้างคุณค่าทางการตลาดและการท่องเที่ยว ผลักดันพระพุทธศาสนาเวียดนามสู่เวทีโลก

0
2008

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมสภาสากลวิสาขโลก รายงานจากเมืองฮานาม ประเทศเวียดนาม ว่า ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2562 รัฐบาลเวียดนาม และคณะสงฆ์เวียดนาม โดยการสนับสนุนของสภาสากลวันวิสาขโลก นำโดยพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขโลก พร้อมด้วยพระเดชพระคุณพระราชปริยัติกวี, ศ.ดร. อธิการบดี มจร. ในฐานะเลขาธิการ ได้เข้าไปทำหน้าที่สนับสนุนการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 16 ที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ จนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ภายหลังที่มีการจับมือกันระหว่างสภาสากลวันวิสาขโลก รัฐบาลเวียดนาม และคณะสงฆ์เวียดนาม ในงานนี้ มีชาวพุทธจากทั่วโลก ทั้งผู้นำทางเมือง ผู้นำทางพระพุทธศาสนา นักวิชาการ และองค์กรพุทธทั่วไปกว่า 5,000 รูป/คน เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้

กลไกสำคัญที่กระตุ้นให้การจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่คือ “รัฐบาลเวียดนามและคณะสงฆ์” จับมือกัน โดยดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยเติมเต็มและสนับสนุนตามศักยภาพของตัวเองที่มี และจัดหาได้ เช่น กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูความปลอดภัย ตำรวจออกบัตรเข้างานทั้งหมด สายการบินเวียดนามเข้ามาดูแลตั๋วสนามบิน เปิดช่องตรวจคนเข้าเมือง ช่องวิสาขะ กระทรวงท่องเที่ยวเข้ามาดูแลการต้อนรับ โรงแรม และการแสดงทางวัฒนธรรม ทหารเข้ามาดูความปลอดภัย กระทรวงคมนาคมดูแลการสัญจร บริษัทไปรษณีย์ออกตราไปรษณีย์ชุด พระสงฆ์ดูแลพิธีการ จะเห็นว่า พิธีกรในงานนี้ใช้พระสงฆ์คู่กับอุบาสิกา

วิสาขบูชาโลก นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งการนัดพบกันของชาวพุทธทั่วโลกเพื่อร่วมกันเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่แล้ว ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อเสริมภาพลักษณ์ประเทศ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศด้วย นี่คือเหตุผลที่ว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลและคณะสงฆ์เวียดนาม จึงส่งคณะสงฆ์และทีมงานรัฐบาลชุดใหญ่มามหาจุฬาฯ สามรอบ เพื่อเจรจาพูดคุยและโน้มน้าวให้เวียดนามเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้

Spiritual Road หรือ ถนนสายจิตวิญญาณ คือ คำตอบในเรื่องนี้ ในขณะที่ ฮา ลอง เบย์ คือสถานที่กระตุ้นความงดงามตามธรรมชาติ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนทางกาย ในทางกลับกัน ถ้าต้องการแหล่งท่องเที่ยวทางจิตวิญญาณ เป็นแหล่งพักผ่อนทางใจท่ามกลางภูเขา และสิ่งแวดล้อมที่งดงาม อีกทั้งมีวัดวาอารามเป็นแหล่งปฏิบัติ สถานที่แห่งนั้น ต้องเป็น “ตัม จุ๊ก จังหวัดฮา นาม” ทอดยาวไปถึงจังหวัดใบดิง  ถนนสายนี้มีทั้งที่พัก โรงแรม อาหาร วัด และแห่งสัปปายะสถาน ที่เอื้อต่อ “การท่องเที่ยวเชิงพุทธ” ที่มีมูลค่าทางใจ และการตลาดอย่างมหาศาล

ในอดีตนั้น คณะสงฆ์เวียดนามบอบช้ำด้วยพิษภัยทางการเมือง แต่ปัจจุบันคณะสงฆ์ก็เป็นเอกภาพ มีความกลมเกลียวเป็นปึกแผ่น ในขณะที่รัฐบาลแม้จะเป็นคอมมิวนิสต์ และรัฐมนตรีทุกคนจะประกาศเป็นพุทธไม่ได้ แต่หัวใจและวัตรปฏิบัติทุกคนเป็นพุทธในวิถีชีวิต ทุ่มเทกายใจดึงเอาพลังแฝงเร้นที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาออกมาเสริมสร้างพลังแก่ประเทศเวียดนาม ฉะนั้น ทุกคนจึงมองเห็นชาติเป็นตัวตั้ง แล้วเอาพลังศาสนามาเสริมสร้างพลังให้แก่ชาติบ้านเมือง

พระพุทธศาสนาในเวียดนามจึงไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่เป็นเครื่องมือในการสร้างชาติบ้านเมือง โดยที่ผู้ปกครองที่มีวิสัยทัศน์เห็นโอกาสดังกล่าว ศาสนาจึงไม่ใช่เครื่องมือสร้างความแตกแยก หากแต่เป็นเครื่องสร้างความกลมเกลียวของคนในชาติ ผสานพลังแล้วดึงพลังออกมารับใช้ชุมชน สังคม และชาติบ้านเมือง สังคมตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน หากยุคใดที่ผู้นำรัฐ และคณะสงฆ์จับมือผนึกกำลังสร้างชาติบ้านเมืองแล้ว เราจะเห็นร่องรอยของความเจริญอยู่ยุคทุกสมัย ดังจะเห็นได้จากการประเทศเวียดนามในขณะนี้ ที่กำลังเจริญทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม