วัดไร่ขิง ดำริสร้างพระพุทธปฏิมาทรงเครื่อง -บาตรน้ำมนต์ รุ่น “เพชรมงคล” สืบสานมรดกพุทธศิลป์

0
6059

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง อ.สามพราน จ.นครปฐม พระเทพศาสนาภิบาล (หลวงพ่อแย้ม) รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เป็นประธานการประชุมโครงการจัดสร้างวัตถุมงคล พระหลวงพ่อวัดไร่ขิงทรงเครื่อง และบาตรน้ำมนต์ รุ่น “เพชรมงคล” ครั้งที่ 1/2660 ทั้งนี้ พระเทพศาสนาภิบาล เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ทางวัดมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างวัตถุมงคลดังกล่าวเพื่อนำรายได้จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (รพ.วัดไร่ขิง) และปรับปรุงพัฒนาศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐมแห่งที่ 2 โดยมูลนิธิหลวงพ่อวัดไร่ ถ.พุทธมณฑลสาย 8 ซึ่งมีการแนะนำคณะทำงาน แนะนำคณะศิลปินผู้ออกแบบ และศิลปินผู้ออกแบบนำเสนอรูปแบบผลงานเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา โดยศิลปินท่านนี้ชื่อ นายอนิรุทธ์ คงถาวร ชาวจังหวัดเพชรบุรี มีผลงานด้านประณีตศิลปกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม มากมายหลายแห่ง อาทิ ร่วมงานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม จ.สมุทรสงคราม ตามโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ออกแบบ-ปั้นองค์มหาเทพ วัดป่าภูก้อน จ.อุดรธานี ออกแบบ-เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังบนกระเบื้องเซรามิกตกแต่งผนังและเสา เรื่องภูริทัตชาดก ณ วิหารเทพวิทยาคม วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ออกแบบ-ปั้นพระพุทธรูปปางนาคปรกหน้าตัก 3 เมตร และออกแบบลานปฏิบัติธรรม พิศญาธรรมสถาน อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นต้น

พระเทพศาสนาภิบาล กล่าวว่า คติในการสร้างและแนวคิดการออกแบบองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงทรงเครื่องต้นอย่างมหาจักรพรรดินั้น ได้ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ศิลปะอินเดียอย่างน้อยในสมัยปาละ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-17 มีปรากฏต่อเนื่องมาในศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย ศิลปะล้านนา อยุธยา จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์และนักวิชาการด้านศิลปะได้สรุปแนวคิดที่สำคัญไว้ ได้แก่ แนวคิดแรก เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเป็นเจ้าชายมาก่อน จึงมีศักดิ์ที่สามารถทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิได้ 2. เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นจักรพรรดิราชาธิราช คือ เป็นพระราชาแห่งพระราชาทั้งหลาย 3. เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นจักพรรดิราชหรือพระพุทธเจ้าสูงสุด (พระอาทิพุทธเจ้า) อันเป็นคติที่เกี่ยวข้องกับนิกายมหายาน 4. มาจากเรื่องชมพูบดีสูตร โดยพระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์ฉลองพระองค์อย่างจักรพรรดิเพื่อสั่งสอนพญามหาชมพู และแนวคิดสุดท้าย เชื่อว่าพระพุทธรูปทรงเครื่องหมายถึง พระอนาคตพระพุทธเจ้า คือ พระศรีอริยเมตไตรย ปรากฏหลักฐานในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

“จากแนวความคิดดังกล่าว นับว่าเป็นกุศลเจตนาที่จะยกย่องเชิดชูพระบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้อย่างสูงส่ง อันแสดงถึงความวิจิตร งดงามและยิ่งใหญ่อย่างพระมหาจักรพรรดิซึ่งบรรพบุรุษของเราได้บรรจงสร้างและส่งต่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้แก่เราในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะสร้างพุทธศิลป์ในแนวทางสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการค้นหาสัจจะ ความดี ความงาม และความหมายแห่งชีวิต” เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง กล่าว

เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง กล่าวอีกว่า ในส่วนการจัดสร้างบาตรน้ำมนต์วัดไร่ขิงด้วยนั้น มีเหตุปัจจัยแห่งการสร้างหลายประการ กล่าวคือ ในแนวความคิดของผู้ออกแบบนั้น เชื่อว่า บาตรน้ำมนต์เป็นศูนย์รวมแห่งสรรพมงคล ประกอบด้วยสามส่วนคือ ฝาบาตร บาตร และเชิงบาตรพร้อมฐานรองรับ ฝาบาตรที่เป็นส่วนบนสุดของบาตรน้ำมนต์นี้ ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อวัดไร่ขิงทรงเครื่องจำลองขนาดเล็กบนฐานกลีบบัว อันหมายถึง ศีล สมาธิปัญญา บาตร ภายในเป็นที่บรรจุน้ำพระพุทธมนต์ วัตถุมงคลหรือสิ่งควรบูชา ภายนอกมีกลีบบัวล้อมรอบจำนวนแปดกลีบ อัญเชิญรูปเทวดานพเคราะห์ประทับ เว้นแต่พระราหู เชิงบาตรพร้อมฐานรองรับ ประดับด้วยลายกลีบบัวและบัวลูกแก้ว ใต้ฐานเชิงบาตรรองรับด้วยชั้นฐานที่มีรูปเศียรพญานาคทั้งสี่ทิศเชื่อมต่อกันด้วยคลื่นน้ำที่ไหลวนเสมือนเวียนทักษิณาวัตร ซึ่งมีความหมายถึงการปกป้องพระพุทธศาสนา ป้องกันสิ่งอัปมงคลและยังหมายรวมถึงความอุดมสมบูรณ์ และตำนานของหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่เกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำนครชัยศรี