วธ. เสริมพลัง Soft Power ด้วยเสน่ห์แห่งสีสันเทศกาลแห่งศรัทธา ในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 554 ปี “พระปฐมบรมศาสดาศาสนาซิกข์”

0
156

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) เป็นประธานในพิธี “วันคล้ายวันประสูติพระศาสดาศรีคุรุนานักเทพ พระปฐมบรมศาสดาแห่งศาสนาซิกข์ ครบรอบ 554 ปี” โดยมี นายนาเคศ สิงห์ (H.E. Mr. Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้บริหารกรมการศาสนา ผู้นำองค์การศาสนา ศาสนิกชน องค์กรเครือข่าย ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธี ณ สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (วัดซิกข์) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับองค์การเครือข่ายทั้ง 5 ศาสนา ดำเนินนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ในมิติศาสนา จัดโครงการ “เสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา” โดยร่วมกับองค์การทางศาสนาซิกข์ คือ สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา จัดพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 554 วันคล้ายวันประสูติ พระศาสดาศรีคุรุนานักเทพ พระปฐมบรมศาสดา ระหว่างวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2566 โดยการจัดงานเฉลิมฉลองดังกล่าวจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ และตามประกาศอย่างเป็นทางการจากประเทศอินเดีย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จึงนับเป็นวันที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากครบรอบ 554 ปี แห่งการก่อตั้งศาสนาซิกข์ ชาวซิกข์ทั่วโลกจะจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลอง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเมตตาของพระศาสดา ที่ได้โปรดอบรมสั่งสอนให้ศาสนิกชนเดินเจริญรอยตามหลักความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด โดยเน้นให้ครองตนในเพศคฤหัสถ์ แต่อบรมใจให้เป็นบรรพชิต ประพฤติและปฏิบัติตามความชอบธรรมอย่างเสมอภาค โดยไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงมอบหลักการครองตนด้วยปรัชญาที่ว่า “ตั้งจิตภาวนา ทำมาหากินสุจริต ผลผลิตแบ่งปัน” ซึ่งคำสั่งสอนของพระองค์ถูกสืบทอดมาจวบจนทุกวันนี้

วันประสูติของพระศาสดาศรีคุรุนานักเทพ ถือเป็นประเพณีทางศาสนาซิกข์ที่จะทำพิธีอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18.00 น. หรือ 60 ชั่วโมง ก่อนถึงวันเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติองค์ปฐมบรมศาสดา โดยมีพิธีกรรมสำคัญคือ การแห่อัญเชิญพระศาสดานิรันดร์กาล “พระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์สาหิบ” จำนวน 5 รูป (เล่ม) ในศาสนสถาน มาประดิษฐานบนอาสนะที่ได้เตรียมการไว้โดยเฉพาะอย่างสมพระเกียรติ จากนั้นศาสนิกชนจะร่วมใจประกอบพิธีอคันด์ ปาธ หรือการสวดเจริญธรรมจากพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์สาหิบ อย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์ ไม่มีการหยุดพัก ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยการสวดจะสิ้นสุดลงในช่วงเช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน ในการนี้ อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วย เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และผู้มีเกียรติ ได้ร่วมทำจิตอาสาแจกอาหารและเครื่องดื่มแก่ศาสนิกชน ตลอดจนร่วมรับประทานอาหารในโรงครัวพระศาสดา ซึ่งศาสนิกชนชาวซิกข์เชื่อว่าการได้มาอุทิศตนทำงานเพื่อผู้อื่นในโรงครัวพระศาสดานั้นคือกุศลอันยิ่งใหญ่ ตามหลักคำสอนของพระปฐมศาสดาในเรื่องการแบ่งปัน และความเท่าเทียม ซึ่งเป็นหัวใจหลักของศาสนาซิกข์ จากนั้นได้ทำพิธีตัดริบบิ้นเพื่อเปิดนิทรรศการ “วันคล้ายวันประสูติพระศาสดาศรีคุรุนานักเทพ พระปฐมบรมศาสดาแห่งศาสนาซิกข์ ครบรอบ 554 ปี” พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการองค์ความรู้ทางศาสนาในเรื่องประวัติพระปฐมศาสดา และสัญลักษณ์ 5ก ของชาวซิกข์ที่ต้องมีติดตัวตลอดเวลา อันได้แก่ การ่า คือ กำไลเหล็ก กาช่า คือ กางเกงชั้นใน เกศา คือ การไว้ผมยาว กังฆะ คือ หวีปักผม กริปาน คือ กริช ก่อนจะเข้าสู่ห้องดัรบาร เพื่อถวายดอกไม้ ทำความสักการะ ณ แท่นบัลลังก์พระมหาคัมภีร์ คุรุครันถ์สาหิบ ตลอดจนร่วมฟังสวดกีรตัน และกล่าวแสดงความยินดีแก่ศาสนิกชนชาวซิกข์ในวาระครบรอบ 554 ปี ตามลำดับ โดยในงานดังกล่าว ได้มีการเปิดให้บริการคลินิกผู้ยากไร้ “นานักมิชชั่น สุขศาลา” สำหรับให้บริการด้านสุขภาพแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ในบริเวณด้านหน้าศาสนสถานอีกด้วย

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมสนับสนุนประเพณีทางศาสนา ผ่านโครงการเสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา ภายใต้การจัดกิจกรรมเทศกาลของศาสนาซิกข์ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ ส่งเสริมวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมอันดีงาม ศาสนิกชนทุกศาสนาได้รู้จักวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายอินเดีย เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เสริมสร้างแนวคิดการอยู่ร่วมกัน การให้เกียรติกันในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยให้ผู้นำศาสนานำองค์ความรู้ทางศาสนาที่ถูกต้อง มาเผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป ผ่านเทศกาลประเพณีที่สำคัญในรูปแบบของ Soft Power ด้านเทศกาล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับ Soft Power รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของชาวไทยเชื้อสายอินเดีย เกิดความเข้าใจอันดีทางศาสนาอันจะนำไปสู่การเกิดความรัก ความสามัคคีในสังคมไทย ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติทางศาสนา นำมาสู่การเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ในพื้นที่โดยรอบ อาทิ ร้านอาหารอินเดียต้นตำรับดั้งเดิม ขนมท้องถิ่น ที่พัก โรงแรม โฮสเทล รวมไปถึงร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเทศกาลได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรมการศาสนาได้ขับเคลื่อนโครงการ “เสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา” อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาร่วมจัดกิจกรรม “เทศกาลนวราตรี” และ “เทศกาลดิวาลี” ของศาสนาศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และยังได้เตรียมการจัดงาน “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” ของศาสนาคริสต์ ณ จังหวัดสกลนคร งาน “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด” ของศาสนาพุทธ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร และงาน “วันอาซูรอสัมพันธ์” ของศาสนาอิสลาม ณ จังหวัดนราธิวาส เพื่อส่งเสริมเทศกาลประเพณีด้านศาสนาและวัฒนธรรม ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว และเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคงสืบไป

*****************************************************************