มส.มีมติรับทราบอดีตพระพรหมดิลก กลับมาห่มเหลืองไม่ได้ เว้นแต่พ้นรอลงอาญา 1 ปี หากไม่ต้องอาบัติปาราชิก 4

0
759

วันนี้ (30 ก.ย.63) ที่ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ในฐานะโฆษกพศ. แถลงภายหลังการประชุมมส.ว่า วันนี้เป็นการประชุมมส.ครั้งที่ 22/2563 ที่ประชุมมีมติรับทราบกรณีศาลอุทธรณ์ยกฟ้องอดีตพระพรหมดิลก หรือ “เจ้าคุณเอื้อน” อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ในความผิดฐานฟอกเงิน และมีข่าวจะกลับเตรียมกลับมาห่มจีวรอีกรอบ เพราะอ้างว่าไม่เคยเปล่งวาจาสึกนั้น ซึ่งคดีเงินทอนวัดที่อดีตพระพรหมดิลกตกเป็นจำเลย เป็นคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องกรณีทุจริตงบอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา แบ่งออกเป็น 3 คดี คือ 1. คดีความผิดมูลฐาน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามป.อาญา ม. 157 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2563 ว่าอดีตพระพรหมดิลกมีความผิดฐานสนับสนุนให้เกิดการทุจริต มีโทษจำคุก 8 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้  1 ปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี และยังไม่ชัดเจนว่า มีการยื่นอุทธรณ์ด้วยหรือไม่

(ชมคลิป)

นายสิปป์บวร กล่าวว่า 2. คดีอาญาฐานฟอกเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2562 ว่า อดีตพระพรหมดิลกมีความผิด ให้จำคุก 6 ปี แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2563 สรุปว่าจำเลยไม่รู้ว่าเป็นเงินที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับ จึงขาดเจตนา ไม่มีความผิดฐานฟอกเงิน ให้ยกฟ้อง และ3. คดีแพ่งฐานฟอกเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเงินในบัญชีเงินฝากของอดีตพระพรหมดิลก เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงให้ตกเป็นของแผ่นดิน 1.67 ล้านบาท ประเด็นแรก อดีตพระพรหมดิลก ขาดจากความเป็นพระหรือยัง เรื่องนี้เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในชั้นสอบสวน จำเลยถูกจับกุมและศาลมีคำสั่งให้ขัง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกเจ้าพนักงานใช้อำนาจตามพ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 และพ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2535 ม.30 ให้สละสมณเพศก่อนเจ้าเรือนจำ ทำให้ขาดจากความเป็นพระแล้วตามกฎหมาย

“การขาดจากความเป็นพระ มี 2 หลัก คือ หลักพระธรรมวินัย สละสมณเพศด้วยการลาสกขา เปล่งวาจา และถอดวีจรออกเรียกว่า “สึกเอง” กับขาดจากความเป็นพระเพราะอาบัติหนัก คือ “ครุอาบัติ” ได้แก่ ปาราชิก 4 ฆ่าคน, ลักทรัพย์, เสพเมถุน, อวดอุตริมนุสสธรรม ถ้ากระทำอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้ ถือว่าขาดจากความเป็นพระ ณ ขณะที่ทำนั้นเลย เรียกว่าขาดโดยอัตโนมัติ อีกหลักหนึ่งคือ หลักกฎหมาย ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมี 2 มาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 29 ถูกจับในคดีอาญาแล้ว พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ประกันตัวก็ให้สละสมณเพศเสียก่อนที่จะนำตัวเข้าห้องขัง กับมาตรา 30 เมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้จำคุกกักขัง หรือขังพระภิกษุ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ กรณีของอดีตพระพรหมดิลก ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ประกันตัว จึงขาดจากความเป็นพระตั้งแต่วันนั้น จะเห็นได้ว่าตอนไปขึ้นศาลช่วงที่ไม่ได้รับประกันตัว อดีพระพรหมดิลกก็สวมใส่ชุดนักโทษ เมื่อได้ประกันตัวก็ใส่ชุดขาว แสดงว่าเจ้าตัวรู้ดีว่าขาดจากความเป็นพระแล้ว” โฆษกพศ. กล่าว

(ชมคลิป)

นายสิปป์บวร กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่สอง อดีตพระพรหมดิลกกลับมาห่มจีวรได้ทันที่เลยหรือไม่ ประเด็นนี้อธิบายได้ว่า อดีตพระพรหมดิลก ไม่สามารถกลับมาห่มจีวรได้ เพราะถือว่าขาดจากความเป็นพระไปแล้ว หากห่มจีวรต้องกลับมาบวชใหม่ โดยพระอุปัชฌาย์บวชให้ แต่หากไม่มีการบวชใหม่แล้วไปห่มจีวร ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ว่าด้วยการแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ประเด็นที่สาม อดีตพระพรหมดิลกกลับมาบวชใหม่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ยังเข้าบรรพชาหรืออุปสมบทไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามกฎมส. ฉบับที่ 17 ข้อ 14 เนื่องจากยังต้องคดีอยู่ คดียังไม่ถึงที่สุด แม้คดีฟอกเงินในศาลอุทธรณ์ ศาลจะยกฟ้องก็ตาม แต่อัยการยังมีสิทธิ์ฎีกา ขณะที่คดีทุจริตก็ยังไม่พ้นระยะเวลารอลงอาญา ที่สำคัญ การรอลงอาญาแปลว่ามีความผิดและมีโทษ เพียงบแต่โทษยังไม่ต้องรับทันทีเท่านั้น ที่สำคัญ คดีแพ่งที่ศาลสั่งริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่มีข้อพิจารณาว่าการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบ เข้าข่ายปาราชิกหรือไม่ หากเข้าข่ายก็ไม่สามารถกลับมาบวชได้อีกเลย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของฝ่ายสงฆ์ เพียงแต่รอให้คดีทางศาลสิ้นสุดทั้งหมดเสียก่อนฝ่ายสงฆ์จึงจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้

โฆษกพศ. กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีบางฝ่ายพยายามโจมตีว่า อดีตพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ไม่มีความผิดแต่ถูกกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายนั้น รัฐบาลหรือพศ. มีฐานะเป็นส่วนราชการ ถือว่าเป็นนิติบุคคลผู้จ่ายเงินงบประมาณ คืองบที่กำหนดให้ใช้เพื่อการใด ก็ต้องใช้เพื่อการนั้น ฉะนั้น เมื่อมีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ก็จะผิดตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณด้วย และเมื่อมีการทุจริตก็ต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่บาทบาทของพศ. ร้องทุกข์เฉพาะคดีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเท่านั้น ส่วนคดีฟอกเงิน หน่วยงานที่ร้องทุกข์คือ ปปง. เพราะเป็นคดีสืบเนื่อง แต่สังคมมักเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินงานของพศ.ทั้งหมด

///////////////////////////////////////////////////////////////////