มส.มีมติชัด!! พระภิกษุผิดอาญา ถูกกักขัง-ไม่ได้ประกันตัว ต้องสละสมณเพศ แม้จะอ้างว่าไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขาก็ตาม

0
1393

ฟันธง กรณี “พระพรหมกวี” วัดกัลยาฯ ศาลตัดสินมีความผิดแล้ว แต่ให้รอลงอาญา และยังไม่ถูกกักขัง จึงยังไม่ต้องสละสมณเพศ 

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.63 นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ในฐานะโฆษกพศ. กล่าวว่า ที่ประชุมหาเถรสมาคม(มส.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.63 มีมติรับทราบ  เรื่อง การพ้นจากความเป็นพระภิกษุ กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา จากกรณีที่มีพระภิกษุถูกจับกุม กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา และเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่ชาวพุทธเกี่ยวกับพระภิกษุที่ถูกจับกุม เเละเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ โดยที่พระภิกษุรูปนั้นไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขาจะถือว่าพันจากความเป็นพระภิกษุหรือไม่ และกรณีพระภิกษุรูปนั้นได้รับการประกันตัวออกมาหรือพ้นโทษมาแล้วจะกลับมานุ่งห่มจีวรโดยไม่ได้อุปสมบทใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนแก่ชาวพุทธ และมีผู้แสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อในหลายช่องทาง นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อคณะสงฆ์ กระทบต่อความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นแก่คณะสงฆ์และสังคม

ทั้งนี้ พศ.ได้นำกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28, 29, 30 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาชี้แจงทำความเข้าใจ ดังนี้ 1.พระสงฆ์รูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายใน 3 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 2.พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไปควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ 3.เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขับพระรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

โฆษกพศ. กล่าวต่อไปว่า กรณีจำเลยยอมสึก ถอดจีวรออก เพราะถูกจับความผิดอาญา และพนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว ต่อมาได้รับการประกันตัว จะกลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุอีก โดยมิได้อุปสมบทใหม่ จะมีความผิดฐานแต่งกายหรือใช้เครื่องที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุสามเณรโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคลเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 208 พระภิกษุที่สละสมณเพศกรณีกระทำความผิดทางอาญาและศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และรับโทษตามคำพิพากษาแล้ว เมื่อพ้นโทษออกมา สามารถเข้ามาบวชได้ 2.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและรอลงอาญา เมื่อพ้นจากระยะเวลาการรอลงอาญา สามารถเข้ามาบวชได้ เว้นแต่ 3. ผู้ที่พันจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 หรือไม่ก็ตาม จะบรรพชาอุปสมบทอีกไม่ได้ และถ้าหากมารับบรรพชาอุปสมบทใหม่โดยกล่าวเท็จ หรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้มส.ได้รับทราบแนวทางตามข้อกฎหมายที่พศ.เสนอขอหารือ และให้แจ้งเป็นแนวปฏิบัติแก่คณะสงฆ์ทั่วประเทศต่อไป

(ชมคลิป)

เมื่อถามถึงกรณีพระพรหมกวี เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดคดีทุบทำลายโบราณสถานภายในวัด มีโทษ 3 ปี แต่รับสารภาพ จึงลดหย่อนโทษ เหลือ 1 ปี และศาลให้รอลงอาญา 1 ปีนั้น นายสิปป์บวร กล่าวว่า มส.ได้มีการพูดถึงเช่นกัน แต่จะเห็นว่า กรณีของพระพรหมกวี ไม่เข้าข่ายต้องสละสมณเพศ เพราะว่าไม่ถูกกักขัง ทั้งนี้กรณีที่นำเข้าหารือมส. คือการที่ไม่ได้ประกันตัว และถูกกักขัง โดยตามกฎหมายต้องให้สละสมณเพศ ส่วนการสละสมณเพศของพระผู้ใหญ่ในคดีทุจริตงบฯพศ.นั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการบังคับให้สละสมณเพศ แต่มีการนิมนต์พระผู้ใหญ่มาดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนไปแล้ว