พศ.หนุนกลุ่มร.ร.พระปริยัติสามัญฯ จัด “๔๘ ปี วิถีปริยัติ นำปฏิบัติสู่สังคมไทย” แข่งขันทักษะทางวิชาการครั้งใหญ่ระดับประเทศ

0
2084

ต่างชาติทึ่ง ฝีมือสามเณรนักเรียน ชาวเยอรมนีสั่งซื้อเครื่องเคลือบเวียงกาหลงเดือนละกว่า 3,000 ชิ้น ผลงานโรงเรียนวัดหนองบัวพิทยา อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.63 ที่วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.ภูเพียง จ.น่าน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) โดยกองพุทธศาสนศึกษา ร่วมกับ สำนักงานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ 6 จัดให้มีการประกวดแข่งขันพัฒนาทักษะทางวิชาการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับประเทศ ครั้งที่ 11 “๔๘ ปี วิถีปริยัติ นำปฏิบัติสู่สังคมไทย” โดยสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มีบัญชาให้พระเทพเวที (พล อาภากโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม รักษาการเจ้าคณะภาค 6 เป็นประธานเปิดงาน

จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค.63 โดยมีพระภิกษุสามเณรจากโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กว่า 2,500 รูป จากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน

นายณรงค์ ทรงอารมณ์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผอ.สำนักงานพระพุทธฯ กล่าวว่า การแข่งขันทักษะวิชาการประกอบด้วย การเรียงความแก้กระทู้ธรรม ตอบปัญหาบาลี การแข่งขันวิชาการตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ การบรรยายธรรมเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ การวาดภาพ ประกวดแต่งบทกลอน การประกวดภาพยนตร์สั้น แต่งบทกลอน การปั้นประติมากรรมลอยตัว การจัดสวนแก้ว ประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุธรรมชาติ โครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้นำความรู้มาทดสอบ เพื่อพัฒนา ยกระดับมาตรฐาน และเผยแพร่ผลงานของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการแข่งขันทักษะทางวิชาการดังกล่าวแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ 6 โดยนิทรรศการที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ นิทรรศการเครื่องเคลือบเวียงกาหลงของโรงเรียนวัดนองบัวพิทยา โดยพระครูโฆษิตสมณคุณ ผอ.โรงเรียนวัดหนองบัวพิทยา ต.เวียงกาหลง อ.เวียงปาเป้า จ.เชียงราย กล่าวว่า เครื่องเคลือบลายเวียงกาหลง เป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ แต่ขาดการสานต่อ ทางโรงเรียนจึงได้จัดทำหลักสูตรสอนการทำเครื่องเคลือบเวียงกาหลงมาตั้งแต่ปี 2555 จนทำให้สามารถผลิตเครื่องเคลือบออกวางจำหน่ายนำรายได้เข้าสู่โรงเรียน ทั้งยังได้รับความสนใจจากชาวเยอรมนี สั่งซื้อไปทำเครื่องประดับเฉลี่ยเดือนละกว่า 3,000 ชิ้น นอกจากนี้นักเรียนยังนำความรู้ไปสอนชาวบ้าน ทำให้เครื่องเคลือบเวียงกาหลงได้ยกระดับเป็นสินค้าโอทอปของตำบลเวียงกาหลง ระดับ 5 ดาวด้วย