พม.ผนึกสสส. รณรงค์ “สุขสงกรานต์ งดสุรา หยุดคุกคามทางเพศ” เตรียมวางกลไกรับมือปัญหาสงกรานต์ ต้องไร้ลวนลาม รุนแรง แอลกอฮอล์

0
1391

สำนักข่าว Thai R News – วันนี้ (7เมษายน 2560) เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวง พม. เป็นประธานแถลงข่าวรณรงค์ “สุขสงกรานต์ งดสุรา หยุดคุกคามทางเพศ” โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่าย ได้รณรงค์กระตุ้นเตือนความปลอดภัยช่วงสงกรานต์อย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่ Zoning เล่นน้ำปลอดภัยมากว่า 10 ปี สอดรับนโยบายนายกรัฐมนตรีที่มุ่งไปสู่สงกรานต์ที่สร้างสรรค์ รักษาขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเปลี่ยนค่านิยม เช่น เล่นน้ำที่ไม่สร้างสรรค์ เกินเลย ฉวยโอกาส อนาจาร คุกคามทางเพศ ที่สำคัญคือมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอุบัติเหตุ สะท้อนจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,447 ครั้ง เสียชีวิต 442 ราย บาดเจ็บ 3,656 ราย สาเหตุอันดับหนึ่ง จากการเมาสุรา ร้อยละ 34.09 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.93 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือจักรยานยนต์   ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นกลุ่มวัยรุ่น(อายุ 15-24 ปี) สูงถึงร้อยละ 29.67 โดยวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงมักอยู่ในช่วงวันเล่นน้ำสงกรานต์ คือ วันที่ 13-15 เมษายน  ยังไม่นับรวมปัญหาทะเลาะวิวาท ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น

“ขอให้คนไทยมาร่วมทำให้สงกรานต์เป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัย ถูกต้องดีงาม ไม่ขัดต่อศีลธรรม และ ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่นไม่ดื่มสุราบนรถขณะอยู่บนทาง ดื่มไม่ขับ ไม่ขายสุราให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือคนเมาขาดสติ ไม่ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น รวมไปถึง การปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นสูงจนประเมินค่าไม่ได้” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว

ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล  ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้สำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2559 จากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,793 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่า เกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 85.9 เห็นว่าไม่ควรฉวยโอกาสลวนลามในช่วงสงกรานต์ และควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน รวมทั้งยังพบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือร้อยละ 51.9 เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศ เมื่อถามถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เคยเจอบ่อยที่สุดคือ ถูกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาการทะเลาะวิวาท เป็นต้น เมื่อพิจารณาในกลุ่มวัยรุ่นชายกับปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศ ในปี 2556 พบข้อมูลที่น่าตกใจว่าร้อยละ 43 มองว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเทศกาลแห่งโอกาสใครๆ ก็ทำกัน โดยไม่ต้องสนใจกฎหมาย

“ปัญหาการคุกคามทางเพศสงกรานต์เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เครือข่ายได้รณรงค์มา 5 ปีแล้ว แต่ 2 ปีหลัง พบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีบทบาทออกมาพูดถึงปัญหาการคุกคามทางเพศกันมากขึ้น โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกมาพูดว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มาในปีนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีบทบาทสำคัญ และทางกรุงเทพมหานคร ก็ออกมาร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม มีทั้งการรณรงค์ การเฝ้าระวัง และมีศูนย์รับแจ้งเหตุเพื่อคุ้มครองผู้ถูกคุกคามทางเพศ ดังนั้น การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมออกมารณรงค์และแก้ไขปัญหาร่วมกันจะนำไปสู่การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ โดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มาร่วมงานสงกรานต์ ทำให้การคุกคามทางเพศลดน้อยลง รวมทั้งปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย การทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคประชาสังคมถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกให้กับผู้มาเที่ยวและเล่นน้ำสงกรานต์ว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุข ไม่ใช่เทศกาลแห่งการฉวยโอกาสของผู้ที่จะมาคุกคามทางเพศ” นายจะเด็จ กล่าว