พช.ศรีสะเกษ สืบสาน รักษา ต่อยอด “โคก หนอง นา พช.” ปลูกป่า 5 ระดับ ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ของโรงเรียน

0
391

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ มอบหมายให้นายเอกชัย ว่องไว พัฒนาการอำเภอปรางค์กู่ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับ นางสมถวิล ทวีชาติ ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต โคก หนอง นา พช. ให้การต้อนรับคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก เพื่อศึกษาดูงานพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน สวนซูนแซมซาย ห่มดินชุ่มดาว หมู่ที่ 8 บ้านรงระ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ แนวคิดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จากพื้นที่จริง เพื่อเข้าถึงบริบทของพื้นที่ปรับเปลี่ยนแนวคิด นำภูมิปัญญาวัฒนธรรมมาบูรณาการกับ 8 กลุ่มวิชาสาระการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มวิชาภาษาไทย กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ กลุ่มวิชาสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา กลุ่มวิชาศิลปะ กลุ่มวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี และกลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศ

นายเอกชัย ว่องไว พัฒนาการอำเภอปรางค์กู่  เปิดเผยว่า การดำเนินกิจกรรมในการศึกษาดูงานในครั้งนี้ คณะศึกษาดูงานได้เรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ในศูนย์เรียนรู้การปลูกป่า 5 ระดับ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พร้อมฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1.มีป่าครอบครัว 2.การอนุรักษ์ การเพาะพันธุ์กล้าไม้ป่า 3.การอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าว มี 9 ชนิด 4.การเลี้ยงปลาในนาข้าว 5.การเพาะเชื้อเห็ดป่า 6.การขยายหัวเชื้อน้ำหมักพันปี 7.การทำน้ำยาเอนกประสงค์ 8.ฐานตนรักแม่ ธรณีการเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยง 9.ฐานคนมีไฟ 10.ฐานคันนา ทองคำ 11.การเพาะพันธุ์ปลา 12.การเลี้ยงหอยขม หอยปัง หอยนา หอยโข่ง 13.การเลี้ยงกบ 14.การเลี้ยงปู 15.อนุรักษ์สมุนไพรพื้นบ้าน 16.การเลี้ยงกุ้งฝอย กุ้งน้ำจืด และหลังจากได้เรียนรู้ตามฐานเรียนรู้ดังกล่าวแล้ว คณะครูและนักเรียนได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนางสมถวิล ทวีชาติ เจ้าของศูนย์เรียนรู้

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม เอามื้อสามัคคี ลงแขกดำนา และหาวัตถุดิบอาหารในพื้นที่ “โคก หนอง นา พช.”มาประกอบอาหารรับประทานร่วมกัน เป็นศึกษาทางภาคปฎิบัติ และ “โคก หนอง นา” สามารถตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง โดยคณะศึกษาดูงาน ประกอบด้วย ครู 15 คน นักเรียน 10 คน จากโรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้ดำเนินการโครงการสืบสนรักษาต่อยอดโคกหนองนาในพระราชดำริ โคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ของโรงเรียนจำนวน 4 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน เป็นการถ่ายทอดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติแก่นักเรียนและผู้สนใจในสถานศึกษา

ว่าที่ร้อยตรีศุภชัย จันครา ผู้อำนวยการโรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก กล่าวว่า “รู้สึกยินดีที่ได้มาศึกษาดูงานการพัฒนาพื้นที่ โคก หนอง นา สวนซูนแซมซาย ห่มดินชุ่มดาว  ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตได้เพราะดูจากพื้นที่ คือ ปลูกป่า 5 ระดับ ได้ทั้ง โคก หนอง นา และคลองไส้ไก่ ได้ทั้งภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ เป็นการสร้างคลังอาหาร สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ และเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดี

ตัวแทนคุณครู กล่าวว่า “ชอบมากค่ะ จะนำการแลกเปลี่ยนในวันนี้ไปขยายผลเพราะสามารถพึ่งพาตนเองได้จริงๆ โคก หนอง นา ทำให้มีเหลือกินสำหรับครอบครัวจนแบ่งปันแก่ครอบครัวอื่นและชุมชนได้ค่ะ เมื่อวานได้แบ่งปันสายพันธุ์ข้าว 4 สายพันธุ์ ให้โรงเรียนไปขยายผลรักษาต่อยอดพันธุ์ข้าว และพืชอีกหลายชนิดค่ะ”

ด้านตัวแทนนักเรียน กล่าวว่า “ชอบค่ะ เพราะไม่เคยเห็นที่ไหนเป็นแบบนี้ โคก หนอง นา ที่นี่ อยากกินอะไรก็สามารถเก็บ หยิบ จับต้องได้ชอบมากค่ะ จะนำไปเป็นแบบอย่าง เพื่อพัฒนาที่โรงเรียนให้มีคลังอาหารให้เด็กได้ทานและได้มีฐานเรียนรู้ให้ชุมชนอื่นๆเหมือนที่นี่ค่ะ”

จากการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้เสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อีกทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” เป็นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้