พช.นครพนม จัดอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล”

0
394

เตรียมความพร้อมพัฒนาคนให้มีหัวใจมุ่งสร้างสรรค์ แบ่งปัน มุ่งพัฒนาตน เพื่อพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของการพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้

วันที่ 26 ธ.ค. 2563 นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ณ ศูนย์ฝึกอบรมหนองทุ่งมน และแปลงเรียนรู้ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร โดยจังหวัดนครพนม มีเป้าหมายการฝึกอบรมทั้งสิ้น 2 รุ่น การฝึกอบรมครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 2 ที่ดำเนินการในระหว่างวันที่ 22-26 ธันวาคม 2563 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากอำเภอท่าอุเทน อำเภอบ้านแพง อำเภอนาแก อำเภอเมืองนครพนม อำเภอปลาปาก และอำเภอโพนสวรรค์ โดยมีครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ครัวเรือนละ 1 คน รวม 49 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 32 คน

นายสุรพล แก้วอินธิ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และอนุมัติให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบประมาณโครงการงเงินกู้เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  มีเป้าหมายสำคัญ คือ “พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง” ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล และประชาชนที่เข้าร่วมเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพื้นที่เรียนรู้ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 25,179 ครัวเรือน  ใช้เงินกู้กว่า 4,700 ล้านบาท ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ 7 กิจกรรมหลัก

สำหรับจังหวัดนครพนมได้รับอนุมัติให้ดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวข้างต้น ในวงเงิน 1,312,290 บาท โดยในเดือนธันวาคม 2563 ดำเนินการเตรียมความพร้อม “คน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาตามโครงการเพื่อให้มีความพร้อมและมีหัวใจที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชนต่อไป โดยดำเนินการฝึกอบรมกิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งจังหวัดนครพนมมีเป้าหมายในการดำเนินงาน 2 รุ่น  161 คน ประกอบด้วยครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต  81 คน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ  80 คน  ดำเนินการตามกรอบหลักสูตรระยะเวลารุ่นละ 5 วัน 4 คืน เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่แล้วจะกลับไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองและขยายผลไปสู่ครัวเรือนอื่นในชุมชน ตำบลได้ อนาคตจะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ขยายผลสู่วงกว้างต่อไป เกิดความสมัครสมาน รู้รักสามัคคีผ่านการช่วยเหลือกันในกิจกรรมเอามื้อสามัคคี โดยแต่ละครัวเรือนจะหมุนเวียนกันร่วมมือเอามื้อสามัคคีช่วยกันทำงานพัฒนาพื้นที่ และงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในกิจกรรมเอามื้อสามัคคีก็หมุนเวียนในท้องถิ่นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี จุดมุ่งหมายสุดท้ายแล้ว คือคนนครพนมจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครัวเรือนต้นแบบและนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบที่เข้าฝึกอบรมเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของสังคม เมื่อเรียนรู้หลักการ ทฤษฎีต่าง ๆ กลับไปแล้ว ก็จะประยุกต์ใช้องค์ความรู้กับพื้นที่ตนเอง ท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อชีวิตและรายได้

“ทั้งนี้ ในการดำเนินงานตามโครงการสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งฟื้นฟูและเกิดการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานรากนั้น จังหวัดนครพนมกำหนดกรอบแนวทางและนโยบายในการบริหารจัดการโครงการให้เป็นไปตามกรอบเวลา รวมถึงเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนและนโยบายที่รัฐบาลกำหนด โดยใช้หลักการบูรณาการและหลักธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครพนม”  นายสุรพล กล่าว