ผู้นำชาวพุทธ 55 ประเทศ ร่วมประกาศ “ปฏิญญากรุงเทพฯ” การประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18

0
261

สมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธจาก 55 ประเทศทั่วโลก ที่เดินทางมาร่วมประชุม และเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 18 ปี 2566 ได้ร่วมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ เนื่องในการประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18

พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก กล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธจาก 55 ประเทศทั่วโลก ที่เดินทางมาร่วมประชุม และเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 1 – 2 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้ร่วมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพมหานคร เนื่องในการประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 โดยระบุว่า 1. ตระหนักถึงความทุกข์จากวิกฤตของโควิด และความขัดแย้งจากการใช้อาวุธในโลกทั้งหมด และเพื่อส่งเสริมให้ชาวพุทธจากทุกภาคส่วนเผยแพร่คําสอนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของพระพุทธเจ้าในเส้นทางที่สามารถฟื้นฟูตัวเราเพื่อรับมือกับความขาดแคลนด้วยความเอื้ออาทร และความไม่สงบทางสังคมด้วยความเข้าใจการใช้ขันติธรรม 2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลในโลก ปฏิบัติอย่างจริงจังและส่งเสริมความตระหนักในการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อยุติความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธของโลกพยายามส่งเสริมสันติภาพและสมานฉันท์ทั่วโลกโดยประยุกต์ใช้คําสอนทางพุทธศาสนาด้านการให้อภัย อหิงสา มีเมตตา ขันติธรรม และต่อต้านตัณหา ความโกรธ อวิชชา เพื่อสร้างสังคมคุณธรรม

พระพรหมบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า 3.สนับสนุน Dinesh Gunawardena นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ในการกล่าวสุนทรพจน์ ถึงวิกฤตโลกหลายปัจจัย ความท้าทายหลังโควิด ในช่วงเวลาแห่งความขาดแคลนนี้ การตอบสนองทางพุทธศาสนาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในทางสายกลาง (Majjhima Patipada)  และพระพุทธศาสนาสามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้นได้ 4.เพื่อส่งเสริมความสงบทางจิตใจและปัจเจกบุคคลโดยการเผยแพร่การฝึกสมาธิทางพุทธศาสนาทั่วโลก 5.เพื่อคงไว้การมองโลกในแง่ดี ในความคิดที่ว่าปัญหาของโลกดูเหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยาก ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะปัญญา แต่เป็นเพราะเรามองหาวิธีแก้ปัญหาที่ผิด พระพุทธศาสนามองข้ามความคิดที่ผิดๆ และแทนที่ด้วยการนำเราไปในทิศทางของการปฏิบัติและแก้ปัญหาที่ถูกต้องซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจในธรรมชาติของความไม่เที่ยงและการเปลี่ยนแปลง 6.ให้ความเคารพต่อสรรพสิ่งทั้งหลายรวมถึงสัตว์และพืชซึ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่ใกล้ชิดและผูกพันโดยตรงกับมนุษย์ 7.แสดงความนับถืออย่างสูงสุดสำหรับโครงการแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นการแปลพระไตรปิฎกบาลีเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อน้อมรำลึกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

พระพรหมบัณฑิต กล่าวอีกว่า 8. เพื่อส่งเสริมคุณค่าในการชื่นชมและเคารพต่อประเพณีทางศาสนาและจิตวิญญาณ เป็นขั้นตอนที่นำไปสู่ความสามัคคีในสังคมและพัฒนาเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับใช้ชีวิตร่วมกัน โดยที่ความสามัคคีไม่ได้กีดกันความแตกต่าง ขณะที่ความแตกต่างไม่ได้กีดกันความเข้าใจและความเคารพ 9.เพื่อยกย่องผู้เข้าร่วมในเวทีสัมมนาวิชาการทั้ง 3 เวที ในหัวข้อ “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” 10. เพื่อส่งเสริมการตื่นตัวร่วมกันในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ทางนิเวศวิทยาและความเสื่อมโทรมของสภาพอากาศ การสอนไม่ให้ใช้ความรุนแรง (อหิงสา) และการสอนความเห็นอกเห็นใจกันขยายไปถึงระบบนิเวศน์ เพื่อผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมและเทคโนโลยีในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11. เราบันทึกความสำเร็จของผลงานที่ได้รับการยกย่องในระดับสากลของคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติภายใต้นายกรัฐมนตรีของไทย 12. คำนึงถึงความไม่แน่นอนของชีวิตในช่วงโรคระบาด โดยเน้นความเชื่อมโยงระหว่างการดูแลทางจิตวิญญาณและมนุษยธรรม ความต้องการทางวัตถุ ตลอดจนกลไกทางเศรษฐกิจในโลกหลังโควิด