นายกฯปลื้ม พช.น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่ โคก หนอง นา โมเดล ตามภูมิสังคมต่อยอดความสำเร็จ

0
649

เชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้สู่ชุมชน พร้อมชื่นชมและให้กำลังใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เน้นย้ำรวมไทยสร้างชาติไปด้วยกัน

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ ประกอบด้วย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการโดยตรวจเยี่ยมการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนริมคลองโฮมสเตย์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจร โดยมีนายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวรายงาน  นางถิรดา เอกแก้วนำชัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนริมคลองโฮมสเตย์ และนางณภัทร จาตุรัส ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจร กล่าวสรุปผลการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ณ ชุมชนริมคลองโฮมสเตย์ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม และ ชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจร หมู่ที่ 5 ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่มาให้การต้อนรับในพื้นที่ ผมเดินเข้ามาในพื้นที่แล้วรู้สึกมีความสุขกับบรรยากาศบ้านสวนริมคลองและได้พบปะพี่น้องประชาชนและได้เห็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่มีความสุข หลังจากผมได้รับฟังคำบรรยายและรายงานสรุปผลการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแล้วรู้สึกชื่นชมที่รู้จักการนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนในพื้นที่ชุมชน เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนรวมไทยสร้างชาติไปด้วยกัน พร้อมทั้งให้กำลังใจกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการที่จะดำเนินกิจกรรมพื้นที่ชุมชนให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และขอฝากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนในส่วนมาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าว(ไซรัป) พร้อมการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าว(ไซรัป) ซึ่งนับเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนและผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน สามารถนำไปสร้างรายได้ให้ชุมชน ให้จำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เยี่ยมชมฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โคก หนอง นา โมเดล ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยมีพื้นที่จำนวน 6 ไร่ ซึ่งในปี 2563 ชุมชนได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นโครงการที่ผู้นำชุมชนในการพัฒนาเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการชุมชนให้เข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักทฤษฎีใหม่รูปแบบประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” ทั้งนี้ชุมชนได้รับการสนับสนุนวัสดุในการบริหารจัดการมาทำกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ดังนี้ 1.คันนาทองคำ การปลูกข้าวในร่องสวน 2.แซนวิชปลา 3.การจัดการระบบน้ำ ฝายกั้นน้ำ 4.ทำปุ๋ยอินทรีย์ 5.ผักสวนครัวปลอดสาร 6.ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวจะเชื่อมโยงนำไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชน

หลังจากนั้นได้ไปเยี่ยมชมฐานกิจกรรมต่างๆ เช่น ฐานสานใบมะพร้าว ฐานนวดสปาเท้าแบบย่ำเกลือ ฐานทำผ้ามัดย้อมจากเปลือกมะพร้าว ฐานเรียนรู้การทำขนมไทย กิจกรรมการส่งเสริมการใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ เยี่ยมชมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” พ.ศ.2553 ชมผลการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจร โดยเยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจร เช่น การส่งเสริมอาชีพบ้านคลองวัว กลุ่มแปรรูปกล้วย มุก-หอม กลุ่มน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน กลุ่มสัมมาชีพผึ้งจิ๋ว (ชันโรง) กลุ่มเย็บกระทงใบตองแห้ง ฐานเรียนรู้ ว่าวจุฬา รวมทั้งกิจกรรมการประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่ โดยนำข่าวสารทางราชการมาสื่อสารให้กับประชาชนได้รับรู้ผ่านทางช่องทางหอกระจายข่าวบ้านคลองวัวและการทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และการดูแลหอกระจายข่าวในพื้นที่อีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า “โคก  หนอง นา โมเดล” เป็นการประยุกต์ทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ตามภูมิสังคม เป็นการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการสืบสาน รักษาและต่อยอด ซึ่งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ไปสู่การปฏิบัติโดยทฤษฎีใหม่ หากเราน้อมนำเอาหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่ โคก หนอง นา จะสามารถดำรงชีวิตได้อยู่รอด กรมการพัฒนาชุมชนนอกเหนือจากขับเคลื่อนในการน้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนแล้ว เรื่องอื่น ๆ ก็ดำเนินการควบคู่ไปด้วยเช่นกัน เช่น เรื่องการรณรงค์ผ้าไทย การลดรายจ่ายด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวมีอาหารปลอดภัยรับประทานในครัวเรือน อีกด้วย

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 4,700 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล ใน 73 จังหวัด 25,179 ครัวเรือน ยังมีงบประมาณที่จะดำเนินการในปี 2564 ให้กับ 14,000 กว่าครัวเรือน และในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วใน 1,500 ครัวเรือน พัฒนาศูนย์เรียนรู้อีก 33 ศูนย์เรียนรู้ ได้ผลดีมาก งบประมาณทั้งหลายจะกระจายไปสู่ท้องถิ่น เพราะประกอบด้วยการฝึกอบรมสร้างความเข้าใจ ให้สามารถปฏิบัติได้จริง เข้าใจเหตุและผลของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่

นายสุทธิพงษ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ขับเคลื่อนบริหารจัดการให้ชุมชนมีความเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมต่อยอดความสำเร็จโดยการเชื่อมโยงพื้นที่ชุมชน ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ โคก  หนอง นา โมเดล กับการท่องเที่ยวชุมชนต่างๆ  เช่น การจัดกิจกรรมเกมตามหาRC ในลักษณะกิจกรรม Walk rally แข่งขันเก็บวัตถุดิบแต่ละชนิดในพื้นที่แปลง โคก หนอง นา เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารพื้นถิ่น เป็นต้น ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในชุมชนได้สัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้การประกอบอาหารพื้นถิ่นพร้อมได้เรียนรู้หลักการดำเนินงานในการใช้ชีวิตแบบพอเพียงรู้จักการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะสมกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งได้ผสมผสานหลักทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาในพื้นที่ของชุมชนอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวพร้อมทั้งได้เรียนรู้วิถีความพอเพียง สามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น หลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่ โคก หนอง นา โมเดล จึงเป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวเองโดยมีประชาชนทุกคนเป็นส่วนที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้บรรลุผลสำเร็จเร็วยิ่งขึ้นอย่างเป็นระบบต่อไป